กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมวิชาชีพสุขศึกษา จัดประชุมวิชาการสุขศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพประชาชน ลดปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคจากพฤติกรรมสุขภาพ ชี้ขณะนี้คนไทยป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หายขาด ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กว่า 13 ล้านคน ไม่รู้ตัวว่าป่วยเกือบ 10 ล้านคน เร่งพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาในสถานบริการและสร้างเครือข่ายสุขศึกษาถึงระดับชุมชน
วันนี้ (2 พฤษภาคม 2550) ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ กรุงเทพฯ นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริกาสุขภาพ และ ดร.สมจิตต์ สุพรรณทัสน์ ที่ปรึกสมาคมวิชาชีพ สุขศึกษา ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังเปิดการประชุมวิชาการสุขศึกษาแห่งชาติ ประจำปี 2550 เรื่อง ความสุขของคนไทยบนฐานเศรษฐกิจพอเพียง
นายแพทย์มรกต กล่าวว่า พฤติกรรมสุขภาพ เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การป่วยและตายด้วยโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกรายงานว่า โรคที่ทำให้ชาวโลกเสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองแตก โดย 2 โรคนี้ทำให้ชาวโลกเสียชีวิตปีละกว่า 13 ล้านคน และคาดว่าโรคดังกล่าวจะรุนแรงขึ้นแน่นอน แนวโน้มการเจ็บป่วยเป็นทิศทางเดียวกันทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยผลการตรวจสุขภาพคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปครั้งใหญ่ทั่วประเทศในรอบ 2 ปีมานี้ พบคนไทยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 10 ล้านกว่าคน เป็นโรคเบาหวาน 3 ล้านกว่าคน ในจำนวนนี้ยังไม่รู้ตัวว่าป่วยประมาณ 10 ล้านคน แนวทางแก้ไขจึงต้องเร่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนให้ถูกต้อง โดยใช้กลไกการดำเนินงานสุขศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญ
ทั้งนี้ ในการดำเนินงานสุขศึกษาเพื่อพัฒนาสุขภาพของประชาชนนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการ 2 แนวทาง คือ การพัฒนามาตรฐานงานสุขศึกษาของสถานบริการในสังกัดทุกระดับ และการสร้างเครือข่ายสุขศึกษากับทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งสถานศึกษา ชุมชนในหมู่บ้าน สถานประกอบการ ตลอดจนสถาบันสื่อมวลชน ซึ่งมีอิทธิพลในการสร้างกระแสสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะวิทยุชุมชน ที่ดำเนินการโดยคนในชุมชน ซึ่งเข้าใจวิถีความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างดี ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น
ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้สถานพยาบาลในสังกัดทุกระดับ จัดทำมาตรฐานการให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนที่ป่วยแล้วและญาติ โดยต้องได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพเพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วยซ้ำ ในรอบ 2 ปีมานี้ดำเนินการได้แล้ว 367 แห่ง ในปีงบประมาณ 2551 มีนโยบายจะเพิ่มให้ได้ 500 แห่ง สำหรับการจัดประชุมวิชาการ นับเป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยให้ผู้ทำงานด้านสุขศึกษาและการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา และนำมาปรับใช้ในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้น
นายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การประชุมวิชาการ สุขศึกษาแห่งชาติครั้งที่ 13 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 พฤษภาคม 2550 โดยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมวิชาชีพสุขศึกษา มีบุคลากรด้านสุขศึกษาและผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านสุขภาพ จากภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมประมาณ 700 คน มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมบรรยายและเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ ความสุขของคนไทยบนฐานเศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพกับเศรษฐกิจพอเพียง ดัชนีชี้วัดความสุขและสุขภาพ รวมทั้งมีการนำเสนอผลงาน ผลการวิจัย รวม 80 เรื่อง
พร้อมกันนี้ ได้มีการมอบโล่แก่นักสุขศึกษาดีเด่น ปี 2550 โดยประเภทวิชาชีพสุขศึกษา ได้แก่ นางพิสมัย จารุชวลิต โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ประเภทบุคคลทั่วไป ได้แก่ นางสาวสุคนธ์ แดงโชติ โรงเรียนบ้านจะเฆ่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ประเภทสถาบัน ได้แก่ โรงพยาบาลพิจิตร จ.พิจิตร โรงพยาบาลป่าซาง จ.ลำพูน และโรงเรียนมัธยมบ้านแก้งวิทยา อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ นอกจากนี้ ยังมอบใบประกาศเกียรติคุณแก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้สนับสนุนการดำเนินงานมาตรฐานสุขศึกษา จำนวน 22 คน และมอบใบรับรองมาตรฐานงานสุขศึกษา แก่สถานบริการสาธารณสุข ที่พัฒนาคุณภาพงานสุขศึกษาได้ตามมาตรฐาน จำนวน 268 แห่งด้วย
******************************** 2 พฤษภาคม 2550
View 11
02/05/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ