รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ จับตาโรคไข้เลือดออก ชี้ฝนมาเร็ว ไข่ยุงลายฟักตัวเร็วขึ้น เผยรอบ 4 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศแล้วกว่า 6,000 ราย เสียชีวิต 4 ราย โดย 3 จังหวัดชายแดนใต้สถิติพุ่งสูงสุดในประเทศ เร่งรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะถ้วยน้ำในกรงนกเขา นกกรงหัวจุก ทุก 7 วัน รวมทั้งแรงงานข้ามถิ่นต้องระวังเพราะขาด ภูมิต้านทานเชื้อไวรัสประจำถิ่น วันนี้ (3 พฤษภาคม 2550) ที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ร่วมพิธีเทิดพระเกียรติ 84 พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา วันที่ 6 พฤษภาคม 2550 โดยภายในโรงพยาบาลมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เกี่ยวกับพระกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อาทิ การจำลองการปฏิบัติงานของหน่วยไตเทียม หุ่นโชว์ขาเทียม ให้บริการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ บริการนวดแผนไทยฟรี และในวันนี้ยังได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการตรวจรักษาโรค บริการทำฟันประชาชนฟรี ที่มัสยิดกลาง อ.เมือง จ.นราธิวาส เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลด้วย มีประชาชนมารับบริการประมาณ 500 คน บรรเทาความเดือดร้อนประชาชนจากสถานการณ์ไม่สงบ นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ในปีนี้ฤดูฝนมาเร็ว หลายพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มมีฝนตกมากขึ้น ทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายต้นเหตุของโรคนี้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่สามารถทำงานเชิงรุก เพื่อป้องกันควบคุมโรคได้อย่างเต็มที่ อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกรุนแรงกว่าพื้นที่อื่นๆ ได้ และขณะนี้คนทุกอายุสามารถป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ พบได้ตลอดปี โดยจะพบผู้ป่วยมากที่สุดในช่วง 4 เดือนนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – สิงหาคมทุกปี สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกใน 4 เดือนแรกของปีนี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วยแล้ว 6,070 ราย คิดเป็นอัตราป่วยแสนละเกือบ 10 คน เสียชีวิต 4 ราย โดยภายใน 2 สัปดาห์พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกือบ 1,000 ราย ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดถูกยุงลายในบ้านกัด เมื่อวิเคราะห์ความรุนแรงรายจังหวัด พบ 3 จังหวัดแรกที่มีอัตราป่วยสูงที่สุดในประเทศ อันดับ 1 ได้แก่ ตราด แสนละ 46 คน รองลงมาคือ ปัตตานี แสนละ 42 คน และยะลา แสนละ 33 คน นายแพทย์มงคลกล่าวต่อไปว่า ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ชักชวนและดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนและแห้งแล้งมาสู่ฤดูฝน ทำให้มีแหล่งที่ยุงลายจะวางไข่และฟักตัวมากขึ้น ยุงจึงชุกชุมและแพร่พันธุ์รวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงเดือนนี้ไปจนเดือนสิงหาคม จะเป็นช่วงที่มีปริมาณยุงลายมาก ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยการเปลี่ยนน้ำในภาชนะที่มีน้ำขังภายในบ้าน เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายสาเหตุไข้เลือดออกทุก 7 วัน เช่น แจกัน จานรองขาตู้กับข้าว ภาชนะเก็บน้ำในห้องน้ำ ที่มองข้ามกันคือ ถ้วยน้ำในกรงนกเขาชวา นกกรงหัวจุก ที่ชาวไทยมุสลิมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นิยมเลี้ยงเกือบทุกบ้าน โดยมักใช้วิธีเติมน้ำใส่ถ้วยแทนการเปลี่ยนน้ำล้างถ้วย เนื่องจากกลัวนกหลุดหนีจากกรง จึงเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ยุงลายเป็นอย่างดี ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในด้านมาตรการรักษานั้น ได้สั่งการกำชับสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ และได้จัดอบรมพัฒนาฟื้นฟูความรู้ เพิ่มทักษะแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนในการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างแม่นยำ โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ ให้สามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะช่วยรักษาผู้ป่วยได้มากที่สุด ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนหนึ่งเกิดจากมาพบแพทย์หลังจากมีอาการหนักมากแล้ว ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชน หากบุตรหลานโดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ตัวร้อนจัด มีไข้สูงเกินกว่า 2 วันกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลง ขอให้คิดถึงโรคไข้เลือดออก โดยโรคนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการไอหรือมีน้ำมูก แต่จะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน ปวดท้อง หรือมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออกและรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 99 รักษาหายขาดได้ ประชาชนที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ กลุ่มที่เคลื่อนย้ายที่อยู่ข้ามจังหวัดหรือไปทำงานต่างภาค เช่น ผู้ที่อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปใช้แรงงานที่ภาคใต้ หากป่วยแล้วอาการอาจรุนแรง เนื่องจากไม่มีภูมิต้านทานเชื้อไวรัสไข้เลือดออกที่เรียกว่าเชื้อเด็งกี่ชนิดที่แพร่ระบาดในพื้นที่ โดยเชื้อไวรัสมี 4 ชนิด แต่ละถิ่นแตกต่างกัน เมื่อมีการติดเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสชนิดนั้นอย่างถาวร แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสอีก 3 ชนิดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 6 - 12 เดือน ดังนั้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีไวรัสเด็งกี่ชุกชุมอาจมีโอกาสติดเชื้อได้ถึง 3 หรือ 4 ครั้ง นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า การป้องกันดีที่สุดคือ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และอย่าให้ยุงกัด โดยนอนในมุ้ง หากป่วยมีไข้สูงสามารถกินยาลดไข้ได้ แต่แนะนำผู้ปกครองให้ดูแลเด็กป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเช็ดตัวลดไข้ และกินยาลดไข้ประเภทพาราเซตตามอล ห้ามกินยาแอสไพริน ยาซอง หรือยาแก้อักเสบโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เลือดออกมาก มีอาการทางสมอง หรือตับวายได้ ****************************** 3 พฤษภาคม 2550


   
   


View 10    03/05/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ