สาธารณสุข เผยเด็กไทยวัย 5 ขวบ ฟันน้ำนมผุร้อยละ 87 เด็กในภาคใต้ผุสูงสุดร้อยละ 91 เหตุจากกินหวานจัด และแปรงฟันไม่ถูกวิธี แนะให้สถานดูแลเด็ก ผู้ปกครอง ฝึกเด็กแปรงฟันหลังอาหารกลางวันให้เป็นนิสัย ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศรณรงค์โรงเรียนปลอดน้ำอัดลมและท็อฟฟี่ เช้าวันนี้ (7 พฤษภาคม 2550) ที่โรงพยาบาลน่าน จังหวัดน่าน นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พอ.สว. และหน่วยทันต กรรมเคลื่อนที่ พอ.สว. ซึ่งจะออกไปให้บริการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพปากและฟันแก่ประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาบ้านน้ำจูน ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นายแพทย์มรกต กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยประสบปัญหาฟันผุกันมาก ทำให้ปวดฟัน ต้องหยุดงาน หยุดเรียน ผลสำรวจของกรมอนามัยล่าสุด พบเด็กไทยอายุ 12 ปี ฟันผุเฉลี่ยร้อยละ 57 โดยกลุ่มอายุ 3 ขวบฟันผุร้อยละ 66 อายุ 5 ขวบผุร้อยละ 87 คือผุทุก 9 ใน 10 คน โดยเด็ก 1 คนฟันผุเฉลี่ย 6 ซี่ ซึ่งจัดว่ามีฟันผุอยู่ในระดับที่สูงมาก เมื่อวิเคราะห์รายภาค พบว่าเด็กกลุ่มอายุ 5 ขวบในภาคใต้ฟันผุสูงที่สุดร้อยละ 91 เฉลี่ยผุคนละ 7 ซี่ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่ดูดนมแล้วหลับคาขวดนม จะมีอัตราการเกิดฟันผุสูงกว่าเด็กทั่วไปเกือบ 2 เท่าตัว นอกจากนี้การแปรงฟันไม่ถูกวิธี คือ แปรงแบบถูไป-ถูมา ยาวๆ ขวางกับตัวฟัน จะเกิดอันตรายต่อเหงือก โดยเหงือกจะร่นไปทางรากฟัน ทำให้คอฟันกับรากฟันสึกเป็นร่อง ตามทิศทางที่ถูกขนแปรงถูไปมา ส่งผลให้เกิดอาการเสียวฟัน และอาจทะลุถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้ปวดฟันได้ ยิ่งหากใช้แปรงสีฟันที่ขนแปรงแข็งมากๆ และใช้แรงในการแปรงมาก จะทำให้ปัญหาเหล่านี้เกิดได้เร็วขึ้น นายแพทย์มรกต กล่าวอีกว่า ในปี 2550 กระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการเคลือบหลุมร่องฟันเพื่อป้องกันฟันผุ ให้เด็กนักเรียนประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่มีความเสี่ยงต่อฟันผุ 400,000 คน ในโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ เพื่อป้องกันโรคฟันผุในฟันกรามแท้ซี่แรก ซึ่งพบบ่อยที่สุดเนื่องจากอยู่ลึกกว่าซี่อื่นๆ ในส่วนของเด็กเล็กได้ป้องกันฟันน้ำนมผุ ได้ให้ทุกจังหวัดรณรงค์สถานเลี้ยงเด็กจัดสถานที่แปรงฟัน แก้วน้ำ แปรงสีฟัน และฝึกเด็กแปรงฟันให้ถูกวิธี หลังอาหารทุกครั้งโดยเฉพาะอาหารกลางวัน เสริมสร้างพฤติกรรมให้ติดเป็นนิสัย เพื่อดูแลฟันน้ำนม และรณรงค์สร้างกระแสให้ครอบครัวและสังคมมีส่วนร่วมในการควบคุมและลดการบริโภคน้ำตาลในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยรณรงค์ให้โรงเรียนงดจำหน่ายท็อฟฟี่ น้ำอัดลม ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เด็กฟันผุ ทางด้านนายแพทย์พิสิฐ ศรีประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่านกล่าวว่า ในปีนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่านได้จัดทำโครงการทันตกรรมเคลื่อนที่ร่วมกับมูลนิธิ พอ.สว. ให้บริการประชาชนที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา 9 แห่งใน อ.ปัว อ.บ่อเกลือ และอ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งขาดแคลนบริการด้านทันตกรรม ให้บริการครั้งละ 1 สัปดาห์ จะสิ้นสุดโครงการวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 โดยสถานการณ์โรคฟันผุจังหวัดน่านในปี 2548 จากการตรวจสุขภาพช่องปากเด็ก 30,820 คน พบฟันผุ เหงือกอักเสบส่งรักษาต่อ 16,847 คน และเคลือบปิดหลุมร่องฟันในฟันกรามแท้ซี่แรก ขณะนี้เด็กอายุ 3 ขวบมีฟันผุร้อยละ 70 เด็ก 5 ขวบมีฟันผุร้อยละ 81 ส่วนเด็ก 12 ปีฟันผุร้อยละ 67


   
   


View 10    07/05/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ