กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนอย่างลงเล่นน้ำทะเลขณะที่มีลมพัดแรง และฝนตก เผยในปี 2549 ตกน้ำ จมน้ำกว่า 8,000 ราย เสียชีวิตถึงร้อยละ 30 และพบนักเรียน/นักศึกษาจมน้ำถึงร้อยละ 32 แนะหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่เสี่ยง ควรทำป้ายเตือน หรือทำเชือกกั้น และจัดหาอุปกรณ์ช่วยเหลือเช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง ให้เพียงพอ จากกรณีที่มีข่าวว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2550 มีเด็กนักเรียน โรงเรียนแห่งหนึ่งไปเที่ยวเล่นน้ำที่หาด ก้นอ่าว-แม่รำพึง ซึ่งอาจารย์จะนำนักเรียนที่จบชั้น ม. 6 มาเที่ยวและฉลองการจบทุกปี ในปีนี้ได้นำนักเรียนมาทั้งหมด 22 คน เมื่อปล่อยนักเรียนลงเล่นน้ำ ปรากฏว่าขณะนั้นมีคลื่นลมแรงมาก ขณะที่เด็กลงเล่นน้ำเพลิน ก็มีเด็กส่วนหนึ่งถูกคลื่นใต้น้ำซัดออกไป และหายไปในน้ำอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 2 ราย ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2550 ที่หาดเดียวกันนี้ มีคนจมน้ำเสียชีวิต 1 ศพ และบาดเจ็บ 2 ราย และวันที่ 6 ก็มีนักท่องเที่ยวจมน้ำ 3 คน แต่ชาวบ้านช่วยเหลือไว้ได้ นั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นับเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ปกครองและครู ที่ต้องระมัดระวังป้องกันเด็กอย่างเต็มที่หากพาไปเที่ยวเล่นน้ำ เนื่องจากแนวโน้มปัญหาการตกน้ำ จมน้ำและเสียชีวิตทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นช่วงที่มีฝนตก มีลมมรสุมพัดแรง คลื่นใต้น้ำจะมีพลังมหาศาล มีกระแสน้ำวน แรงดูดของคลื่นใต้น้ำ จะดูดให้หายเข้าไปในร่องน้ำได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้เสียชีวิตทุกราย จึงขอเตือนประชาชน หากไปเที่ยวแล้วมีฝนตก หรือมีมรสุม ลมพัดแรง อย่าลงเล่นน้ำเด็ดขาด นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา พบว่า ในปี 2542 มีผู้เสียชีวิตจากตกน้ำ จมน้ำ 3,057 ราย เพิ่มเป็น 4,220 รายในปี 2548 หรือเฉลี่ยปีละประมาณ 4,000 ราย สำหรับปี 2549 มีผู้บาดเจ็บจากตกน้ำ จมน้ำ 8,118 ราย เสียชีวิต 2,445 รายหรือร้อยละ 30 ผู้จมน้ำส่วนใหญ่จะมีอายุต่ำกว่า 10 ปี ถึงร้อยละ 48 เป็นเพศชายมากกว่าหญิง 2 เท่า และพบเป็นนักเรียน/นักศึกษาร้อยละ 32.4 รองลงมาเป็นกลุ่มไม่มีอาชีพ จังหวัดที่มีการเสียชีวิตสูงสุด คือ ตราด ระนอง ภูเก็ต อ่างทอง และพิจิตร ส่วนใหญ่จะเกิด 2 ช่วง คือ ช่วงแรกในเดือนเมษายน- พฤษภาคม ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอมและสงกรานต์ และเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับเทศกาลลอยกระทง นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวอีกว่า ในการป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ หากจะไปเที่ยว ผู้ปกครองหรือพี่เลี้ยงเด็ก ควรระมัดระวังดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เล่นน้ำตามลำพัง ควรให้ความรู้และคำแนะนำเรื่องความปลอดภัยในการป้องกันตนเองอย่างถูกต้อง ผู้ที่ลงเล่นน้ำหรือจะเดินทางทางน้ำ ต้องสวมเสื้อชูชีพตลอดเวลา หรือมีอุปกรณ์ช่วยเหลือเพื่อป้องกันการจมน้ำในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ส่วนการช่วยเหลือที่ถูกต้องเมื่อพบกำลังจมน้ำ ให้หาอุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น ไม้ เชือก หรือสิ่งยึดเหนี่ยว ให้การช่วยเหลืออย่างระมัดระวังและรวดเร็ว ส่วนหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยทางน้ำ ทั้งส่วนราชการ ชุมชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรมีการจัดการดูแลแหล่งน้ำ และสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำที่เป็นพื้นที่เสี่ยงให้มีความปลอดภัย เช่น ทำรั้ว ทำป้ายเตือน หรือทำเชือกกั้น และจัดหาอุปกรณ์ช่วยเหลือให้เพียงพอ เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง เป็นต้น


   
   


View 10    10/05/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ