กระทรวงสาธารณสุข ปรับการให้บริการด้านสุขภาพประชาชนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการเชิงรุก เน้นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ ทั้งโรคติดต่อและไม่ติดต่อ ความพิการ และปัญหาสุขภาพจิต พร้อมเพิ่มความรู้ ทักษะการค้นหาผู้ป่วยให้กับ อสม. เพื่อเป็นกำลังสำคัญเปิดทางให้เจ้าหน้าที่เข้าทำงานในชุมชน สร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่
นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการนำคณะผู้บริหารส่วนกลาง ประกอบด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวัจน์ เฑียรทอง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต และนายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เดินทางไปเยี่ยมการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่โรงพยาบาลหนองจิก สถานีอนามัยตะลุโบะ จังหวัดปัตตานี สถานีอนามัยบ้านลำใหม่ โรงพยาบาลยะลา จังหวัดยะลา โรงพยาบาลบาเจาะ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก และโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส พบว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังคงมีขวัญกำลังใจดี และพร้อมที่จะทำหน้าที่ดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป
นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อว่า แม้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบต่อการทำงานเชิงรุกในพื้นที่ แต่การดูแลสุขภาพประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินต่อไป กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ปรับแนวทางการจัดบริการเชิงรุกในภาวะวิกฤต เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุด โดยจะจัดบริการในลักษณะหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้การดูแลที่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพในพื้นที่ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้อกระจก ความพิการ รวมทั้งการเยียวยาสภาพจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยมอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวบรวม วิเคราะห์ปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ จัดทำเป็นแผนดำเนินงานขอรับการสนับสนุนจากส่วนกลาง ทั้งเรื่องงบประมาณและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่สำคัญคือ ต้องให้ อสม. เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานในชุมชนมากขึ้น เพราะ อสม. เป็นชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว จึงสามารถประสานกับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างดี ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าถึงชุมชนมากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะฟื้นฟูและพัฒนาความรู้ด้านสุขภาพให้กับ อสม. ทุกคน โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้เป็น อสม. ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการทำงานในพื้นที่ อาทิ การตรวจคัดกรองผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็งเต้านม ดูแลหญิงตั้งครรภ์ก่อนคลอด แม่หลังคลอด เป็นต้น สำหรับการดูแลปัญหาทางด้านจิตใจ กรมสุขภาพจิตได้มีการอบรมความรู้การดูแลจิตใจเบื้องต้นให้กับ อสม. จำนวน 2,000 คน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1,000 คน ช่วยเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดจ้างนักจิตวิทยาประจำโรงพยาบาลชุมชน 37 แห่ง ๆ ละ 2 คน และจัดจิตแพทย์หมุนเวียนมาประจำที่โรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อช่วยปฏิบัติงานและเป็นพี่เลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่ในชุมชนด้วย
*************************************** 11 พฤษภาคม 2550
View 14
11/05/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ