รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการทุกจังหวัดที่ประสบอุทกภัย เฝ้าระวังโรคติดต่อที่มากับ น้ำท่วม เช่น ท้องร่วง บิด ไทฟอยด์ ตาแดง แนะประชาชนรับประทานอาหารปรุงสุก น้ำดื่มบรรจุขวด ไม่ถ่ายลงน้ำ และเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนทันท่วงที นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วม ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีฝนตกหนัก บางพื้นที่เริ่มประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดที่ประสบอุทกภัยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกช่วยเหลือประชาชนและป้องกันโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่เสี่ยง เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ระนองและพังงา ติดตามรายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเฝ้าระวัง สำรวจเครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ที่อาจเสี่ยงต่อความเสียหายจากน้ำท่วม โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เคยถูกน้ำท่วม ขอให้เตรียมรับสถานการณ์ เก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้บนที่สูง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย สำรวจปลั๊กไฟหรือสายไฟเพื่อป้องกันไฟฟ้าช็อต สำหรับความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนที่บ้านนาพูน หมู่ 2 และหมู่ 10 ตำบลวังชิ้น จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 ซึ่งมีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายจำนวน 125 หลังคาเรือน ระบบประปาหมู่บ้านและระบบท่อส่งน้ำเสียหายไม่สามารถใช้งานได้ 2 แห่ง ส้วมใช้การไม่ได้ 125 แห่ง และบ่อน้ำใช้เสียหายจำนวน 32 บ่อ ทำให้ประชาชนขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้รวม 448 หลังคาเรือน ได้รับรายงานจากนายแพทย์ปรีดา ดีสุวรรณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแพร่ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอวังชิ้น และโรงพยาบาลวังชิ้นได้ระดมความช่วยเหลือ ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนทันที พร้อมทั้งแจกจ่ายยาสามัญประจำบ้าน รองเท้าบู๊ต 100 คู่ คลอรีน 50 กิโลกรัม และสารส้ม 60 กิโลกรัม เพื่อใช้ฆ่าเชื้อโรคในบ่อน้ำแล้ว นายแพทย์มรกต กล่าวต่อว่า ได้เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดทีมแพทย์ พยาบาล ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนทุกวันจนกว่าเหตุการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ เฝ้าระวังโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง โรคบิด ไทฟอยด์จากการกินอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด และโรคอื่น ๆ เช่น ตาแดง แผลอักเสบติดเชื้อ โรคน้ำกัดเท้า และให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง โดยให้กินอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำบรรจุขวด ถ่ายอุจจาระลงส้วม หากส้วมใช้การไม่ได้ ให้ถ่ายลงถุงดำเพื่อนำไปกำจัดให้ถูกต้อง ห้ามถ่ายลงน้ำอย่างเด็ดขาด และล้างมือให้สะอาด ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุหากถ่ายเหลวเป็นน้ำเกิน 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมงให้รีบไปพบแพทย์ ห้ามซื้อยาแก้ท้องเสียมากินเองอย่างเด็ดขาด


   
   


View 14    15/05/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ