รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการตรวจเครื่องสำอางสมุนไพรไทย ในปี 2555 พบว่า     ตกเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 14 โดยพบจำนวนรวมของเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ และเชื้อรา เกินมาตรฐานสูงถึง 8- 50,000 เท่าตัว และพบเชื้อคลอสตริเดียมด้วย โดยให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บริการตรวจเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อให้เครื่องสำอางมีความปลอดภัย

           วันนี้ (16 มกราคม 2556) ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขางามวงศ์วาน จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนางสุพัฒนา อาทรไผท ประธานสภาสตรีแห่งชาติ               ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เปิดนิทรรศการสตรีไทยห่วงใยสุขภาพเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ประจำปี 2556 ซึ่งจัดเป็นปีที่ 3 ปีนี้เน้นแนวคิด “งามสมวัย อย่างปลอดภัย ใจไม่เครียด” จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติ             ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม 2556

        นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชาชนให้ความสนใจใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสมุนไพรมากขึ้น และมีเครื่องสำอางวางจำหน่ายในท้องตลาดจำนวนมาก จากการติดตามสถานการณ์เครื่องสำอางที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ และมีส่วนผสมของสมุนไพร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าพื้นบ้าน หรือสินค้าโอทอป             ซึ่งผู้ใช้มั่นใจว่าปลอดภัยกว่าใช้สารเคมี โดยสมุนไพรไทยที่ได้รับความนิยมมาใช้ในเครื่องสำอาง เช่น ว่านหางจระเข้ มะคำดีควาย เปลือกมังคุด มะขาม ขิง มะกรูด ชุมเห็ดเทศ ใบบัวบก หัวไชเท้า ขมิ้นชัน ไพล แตงกวา ดอกอัญชัน เป็นต้น ที่นำมาเป็นส่วนผสมของชมพู ครีมนวดผม สบู่ โลชั่น/ครีมบำรุงผิว ครีมขัดเท้า นวดเท้า ขัดผิว โดยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2553 กำหนดให้เครื่องสำอางสมุนไพร จะต้องไม่พบเชื้อคลอสสตริเดียม (Clostridium spp.) เนื่องจากเป็นเชื้ออันตรายก่อให้เกิดการอักเสบรุนแรง เป็นฝีหนอง และกำหนดปริมาณการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ 3 ชนิด คือ แบคทีเรีย ยีสต์ และรา  ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยคือ ไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อกรัม

           นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า จากการเฝ้าระวังโดยสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่างเครื่องสำอางสมุนไพรมาตรวจ จำนวน 527 ตัวอย่าง ในปี 2555 พบว่า  ตกเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 72 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 14 โดยตรวจพบปริมาณรวมของเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ และรา และพบเชื้อคลอสตริเดียมด้วย มากถึง 28 ตัวอย่าง ปริมาณเชื้ออยู่ในช่วง 8,400-50,000,000 โคโลนีต่อกรัม            ซึ่งนับว่าเกินมาตรฐาน 8-50,000  เท่าตัว ซึ่งการผลิตผู้ประกอบการอาจขาดความรู้ ความเข้าใจในการผลิตและเกิดการปนเปื้อนระหว่างกระบวนการผลิต การบรรจุ ดังนั้น เพื่อเร่งยกมาตรฐาน สินค้าเครื่องสำอางสมุนไพรพื้นบ้าน หรือโอทอปให้ปลอดภัย เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน ได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดบริการตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อนให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยติดต่อรับบริการได้ที่                     ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หากพบว่ายังไม่ได้ตามเกณฑ์ จะมีการแนะนำเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เข้ามาตรฐาน

            ทางด้าน นางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ใน 2555 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างเครื่องสำอางประเภทครีมและโลชั่น ที่มีสรรพคุณที่ทำให้   ใบหน้าขาว รักษาสิว ผ้า และกันแดด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้หญิงนิยมใช้มากที่สุด จำนวน 427 ตัวอย่าง จาก 4 ภาค     พบยังมีสารต้องห้ามในเครื่องสำอาง 3 ชนิด  จำนวน 162 ตัวอย่าง โดยพบสารปรอทแอมโมเนีย มากที่สุด ร้อยละ 38 สารนี้หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะเกิดการสะสมในผิวหนัง และดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต ทำให้  ตับและไตอักเสบ เกิดโรคโลหิตจาง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ทำลายสีของผิวหนังและเล็บมือ ผิวหนังบางขึ้นเรื่อยๆ   รองลงมาคือ สารไฮโดรควิโนน พบร้อยละ 29  สารชนิดนี้ทำให้เกิดการระคายเคืองและจุดด่างขาวที่หน้า ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวร รักษาไม่หาย และพบกรดเรทิโนอิก ร้อยละ 2  ซึ่งมีความเป็นพิษคือ ทำให้หน้าแดง แสบร้อนรุนแรง ระคายเคืองอักเสบ แพ้แสงแดดและแสงไฟง่ายขึ้น และยังเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ด้วย    ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะดำเนินการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และประสานการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด และจะให้ชมรมสตรีไทยห่วงใยสุขภาพเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งมีทุกจังหวัด รวม 84 ชมรม ประกอบด้วย กลุ่มภริยาหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด  แม่บ้าน และกลุ่มสตรีต่างๆ เป็นต้น รณรงค์ให้ความรู้ผู้หญิง ในการเลือกใช้ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันและลดอันตรายจากเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน

           สำหรับงานนิทรรศการสตรีไทยห่วงใยสุขภาพเฉลิมพระเกียรติฯ จะมีการให้ความรู้ต่างๆ เช่น โยคะ  เพื่อสุขภาพและความงาม อันตรายจากการเสริมความงาม บริการให้คำแนะนำการใช้เครื่องสำอางและการดูแลสุขภาพผิวกายอย่างปลอดภัย การชะลอวัย ศัลยกรรมความงามและการใช้เครื่องมือ เช่น การเสริมจมูก     เสริมเต้านม และเลเซอร์  การใช้ยาและอาหารเสริมลดความอ้วน  และออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร บริการตรวจสุขภาพ สาธิตการตรวจหาสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง และตัดแว่นตาฟรี

********************* 16 มกราคม 2556

 



   
   


View 11    16/01/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ