กระทรวงสาธารณสุข เผยสถิติสาธารณสุขในปี 2554 พบมีเด็กวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ  370 คน และในอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรวันละ 10 คน จัดโครงการพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อพัฒนางานอนามัยการ เจริญพันธุ์และประชากร โดยให้ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้มีทิศทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ในวัยรุ่น

          วันนี้ (16 มกราคม 2556) นายแพทย์ชลน่าน  ศรีแก้ว  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ เพื่อแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร ว่า ปัจจุบันวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น อายุเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกพบว่ามีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ โดยมีอายุเฉลี่ย 15-16 ปี ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  มัธยมศึกษาปีที่ 5 และ ปวช.ปี 2 โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2550-2554 พบว่า การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกส่วนใหญ่ใช้ถุงยางอนามัยเพียงร้อยละ 55.1 และร้อยละ 70 ของวัยรุ่นใช้บ้านตนเอง  หรือบ้านเพื่อนเป็นสถานที่ที่มีเพศสัมพันธ์ ปัจจัยที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นพบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากใช้วิธีคุมกำเนิดไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้ใช้วิธีการป้องกัน เนื่องจากขาดความรู้ มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการร่วมเพศ คิดว่าร่วมเพศครั้งเดียวไม่ตั้งครรภ์ การใช้ถุงยางอนามัยขัดขวางความรู้สึกทางเพศ และไม่รู้ว่าตนเองจะมีโอกาสตั้งครรภ์เมื่อใด นอกจากนี้วัยรุ่นยังไม่กล้าไปขอรับบริการคุมกำเนิด เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการมีทัศนคติไม่ดีต่อวัยรุ่น ทำให้วัยรุ่นแม้จะมีความรู้แต่ก็เข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิด

                นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า จากพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย และ มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ส่งผลให้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้น จากสถิติสาธารณสุขพบว่าในปี 2554  มีเด็กวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 370 คน และในอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรวันละ 10 คน และ      การดำเนินการเฝ้าระวังการแท้งในประเทศไทย โดยดำเนินการนำร่องใน 13 จังหวัดทั่วประเทศ มีโรงพยาบาลเข้าร่วม       134 แห่ง ข้อมูลปี 2554 พบว่าร้อยละ 53 ของผู้ป่วยที่ทำแท้งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและเยาวชนและร้อยละ 30 มีสถานภาพเป็นนักเรียนนักศึกษา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพบว่ามากกว่าร้อยละ 80 เป็นการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ผลกระทบที่สำคัญพบว่าแม่วัยรุ่นยังขาดโอกาสในการศึกษา เพราะต้องรับภาระในการดูแลบุตรและการสร้างครอบครัว

             “แนวทางแก้ปัญหาขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553-2557) โดยส่งเสริมให้ครอบครัวอบอุ่นมีลูก  เมื่อพร้อม สนับสนุนให้โรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้เรื่องเพศศึกษา รวมทั้ง การพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียน อีกทั้งยังส่งเสริมให้โรงพยาบาลทุกแห่งพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งเน้นการเข้าถึงการใช้บริการในกลุ่มวัยรุ่น จัดบริการสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน พร้อมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ในกลุ่มวัยรุ่นทั้งในและนอกสถานศึกษา ด้วยการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษา การดูแลช่วยเหลือเบื้องต้น และระบบส่งต่อเพื่อเชื่อมโยงระหว่างชุมชน สถานศึกษา และคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาล ผ่านการดำเนินการโครงการ 1 โรงเรียน 1 โรงพยาบาล และอำเภออนามัยการเจริญพันธุ์ ตลอดจนสนับสนุนให้ทุกจังหวัดมีการจัดตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานแก้ไขปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์ระดับจังหวัด โดยเฉพาะประเด็นการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและเยาวชน มีแผนยุทธศาสตร์และนำสู่การปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสุขภาพและอนามัย การเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นและเยาวชนอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในที่สุด  

************** 16 มกราคม 2556



   
   


View 12    16/01/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ