กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มพูนความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ แก่บุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์ในสังกัดทั่วประเทศ ให้เท่าทันเทคโนโลยี สถานการณ์โลกและสุขภาพ เพื่อเป็นกำลังเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนทุกพื้นที่ ทั้งการป้องกันควบคุมโรค การส่งเสริมสุขภาพ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤต
เช้าวันนี้ (16 พฤษภาคม 2550) ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ นายแพทย์กิตติศักดิ์ กลับดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาเครือข่ายประชาสัมพันธ์กระทรวงสาธารณสุข ปี 2550 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1618 พฤษภาคม 2550 โดยมีนักวิชาการ นักประชาสัมพันธ์ ผู้รับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์ จากหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมประชุม จำนวน 200 คน เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านการประชาสัมพันธ์และการผลิตสื่อ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับช่องทางการสื่อสาร สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการวางแผนประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ไปสู่ประชาชนได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ปัญหาสุขภาพ ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากวงการสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ มาให้ความรู้ พร้อมทั้งนำศึกษาดูงานการผลิตรายการ ที่ไทยทีวีสี ช่อง 3 โมเดิร์นไนน์ทีวี สำนักข่าวไทย บริษัท เจ เอส แอล จำกัด และเนชั่น กรุ๊ป
นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์เกี่ยวกับโรคและสุขภาพ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีโรคติดเชื้อชนิดใหม่ๆ ที่รุนแรง เกิดขึ้นเรื่อยๆ และสามารถแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้ภายในเวลาข้ามคืน เช่น ไข้หวัดนก โรคซาร์ส รวมทั้งโรคติดเชื้อในอดีตที่หวนกลับมาระบาดใหม่และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เช่น วัณโรค มาลาเรีย การติดเชื้อเอชไอวี ขณะที่ปัญหามลพิษจากสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น กินอาหารหวานจัดมันจัด ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ก็ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยมากขึ้น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับประชาชนกลุ่มที่ตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพ ซึ่งต้องการข้อมูลข่าวสารเพื่อการสร้างสุขภาพที่ดีขึ้น ส่วนประชาชนกลุ่มที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพ ก็จำเป็นต้องได้รับข้อมูลข่าวสารสุขภาพเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมา
นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า เครือข่ายประชาสัมพันธ์ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีครอบคลุมทั่วประเทศ จึงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชน ทั้งในภาวะปกติ เช่น ให้ความรู้ในการดูแลส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคที่ถูกต้องเหมาะสม การให้ข้อมูลข่าวสารด้านการบริการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างถูกต้อง รวมทั้งการแจ้งข้อมูลการจัดบริการช่วยเหลือด้านการแพทย์ การให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว ในภาวะวิกฤต เช่น เกิดโรคระบาด อุบัติเหตุหมู่ และภัยธรรมชาติต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ บุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์ ยังมีบทบาทสำคัญ ในการติดตามชี้แจงแก้ไขสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่องานบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการอีกด้วย
*** 16 พฤษภาคม 2550
View 9
16/05/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ