รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในพื้นที่ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมบริการประชาชนเต็มที่ ส่วนโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติทุกชนิด ให้ซักซ้อมแผนรับมืออุบัติเหตุ อุบัติภัย สม่ำเสมอ ขอให้ประชาชนมั่นใจ หากประสบอุบัติเหตุฉุกเฉิน สามารถโทรเรียก 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.1 ริกเตอร์ ที่บริเวณเขตรอยต่อประเทศพม่าและประเทศลาว ทำให้จังหวัดในภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากที่สุด รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนซึ่งรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดมา จนทำให้โบราณสถานสำคัญได้รับความเสียหายนั้น
นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เนื่องจากศูนย์ติดตามแผ่นดินไหวประเทศไทย ได้รายงานว่าจะมีแผ่นดินไหวขนาดย่อยตามมาเป็นระยะๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับอาคาร บ้านเรือน ที่มีปัญหาโครงสร้างไม่แข็งแรง และเป็นอันตรายกับประชาชนได้ จึงได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมรองรับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเต็มที่ ทั้งทีมแพทย์ พยาบาลที่จะให้บริการ เวชภัณฑ์วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ ระบบติดต่อสื่อสาร ตลอดจนระบบการส่งต่อผู้ป่วย ขอให้ประชาชนมั่นใจ หากประสบอุบัติเหตุฉุกเฉิน สามารถติดต่อได้ทางหมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
นายแพทย์มรกต กล่าวต่อว่า นอกจากภัยอันเนื่องมาจากแผ่นดินไหวแล้ว ขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน มีลมพายุพัดผ่านประเทศไทยโดยตลอด หลายพื้นที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติอื่นๆ อาทิ โคลนถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จึงให้สถานพยาบาลทุกแห่ง โดยเฉพาะสถานพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ได้เตรียมการรองรับภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นด้วย โดยให้มีการทบทวน ซักซ้อมแผนรองรับอุบัติเหตุ อุบัติภัย ที่ทุกโรงพยาบาลมีแผนรองรับอยู่แล้วตามกำหนด รวมทั้งปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง
ด้านนายแพทย์สมปรารถน์ หมั่นจิตต์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้นับว่ามีแรงสั่นสะเทือนมากที่สุด แต่อาคารโรงพยาบาลไม่ได้รับความเสียหายใดๆ ผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 30 ราย รู้สึกตื่นตกใจเล็กน้อย ทั้งนี้ โรงพยาบาลเพิ่งจัดซ้อมแผนรับอุบัติเหตุ อุบัติภัยไปเมื่อเดือนมีนาคม 2550 โดยมีการประสานกับโรงพยาบาลรอบนอกด้วย หากเกิดเหตุฉุกเฉินและต้องมีการขนย้ายผู้ป่วย จะส่งไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลขุนตาล ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 40 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที และหากเป็นผู้ป่วยหนักจะส่งไปที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ระยะทาง 110 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
*************************** 17 พฤษภาคม 2550
View 9
17/05/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ