รัฐมนตรีสาธารณสุข 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง ลงนามขยายความร่วมมือ พัฒนาระบบการเฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อทุกชนิด ทั้งโรคเก่าที่เป็นปัญหา และโรคที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาโรคระบาดมีความเข้มแข็งมากขึ้น สอดรับกับกฎอนามัยโลกระหว่างประเทศฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ทั่วโลกในเดือนหน้านี้ วันนี้ (17 พฤษภาคม 2550) ที่สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 60 รัฐมนตรีสาธารณสุขในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย ไทย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนามและจีน ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังโรคติดต่อ หรือเอ็มบีดีเอส (MBDS: Makong Basin Disease Surveillance Network) โดยมีผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก รวมทั้งกรรมการผู้จัดการมูลนิธิร็อคกี้ เฟลเลอร์ (Rockefeller) และคณะผู้แทนจากประเทศต่างๆ ร่วมชื่นชมในความสำเร็จครั้งนี้ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การลงนามร่วมกันในครั้งนี้ เป็นการขยายข้อตกลงระยะที่สองของความร่วมมือ เพื่อพัฒนาและเสริมความเข้มแข็งของระบบการเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ ต่อจากข้อตกลงครั้งแรก ที่ลงนามที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน เมื่อ พ.ศ. 2544 ซึ่งมีวาระคราวละ 5 ปี โดยได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ปีละเกือบ 20 ล้านบาท รวมทั้งการสนับสนุนทางวิชาการจากองค์การอนามัยโลก กรอบความร่วมมือครั้งนี้ ครอบคลุมถึงโรคเก่าและโรคระบาดที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส และโรคที่เกิด ชุกชุมในเขตนี้ ได้แก่ เอดส์ วัณโรค มาลาเรีย รวมถึงโรคที่เกิดประจำถิ่นในประเทศอยู่แล้ว เช่น โรคไข้เลือดออก อหิวาตกโรค อุจจาระร่วง และโรคที่ควรจะหมดไปเพราะมีวัคซีนป้องกันได้ ที่สำคัญได้แก่ โรคหัด เป็นต้น ทั้งนี้แต่ละประเทศจะระดมทรัพยากรต่างๆ ทั้งในหรือระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรคและป้องกันควบคุมโรคร่วมกัน เนื่องจากตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป องค์การอนามัยโลกจะเริ่มต้นใช้กฎอนามัยระหว่างประเทศฉบับใหม่ (International Health Regulation) ซึ่งการดำเนินการของการเฝ้าระวังโรคในเขตลุ่มน้ำโขงของทั้ง 6 ประเทศ นับเป็นตัวอย่างที่ดีและตรงกับสิ่งที่ทางกฎอนามัยระหว่างประเทศร้องขอให้ทุกประเทศดำเนินการ คือ ให้สร้างศักยภาพของการเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค การควบคุมโรค ในพื้นที่ที่เป็นจุดต้นเหตุโดยเร็วที่สุด และให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด ในระหว่างประเทศและองค์การอนามัยโลก ดังนั้นการลงนามในครั้งนี้ จึงเป็นการประกาศให้ประชาคมโลก ได้รับทราบว่าประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง พร้อมที่จะผนึกกำลังและดำเนินการทุกอย่าง เพื่อสกัดกั้นโรคระบาดทุกชนิด ไม่ให้เป็นภัยคุกคามความเป็นอยู่ของประชาชนใน 6 ประเทศ และในภูมิภาคอื่นๆ และเชื่อมั่นว่าประชาคมโลก รวมถึงองค์กรต่างๆ ก็จะสนับสนุนการดำเนินงานของความร่วมมือในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า ผลความร่วมมือที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก ทำให้เกิดสัมพันธภาพอันดีระหว่างหน่วยงาน บุคลากรด้านการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ทั้งระดับกระทรวงและผู้ปฏิบัติงานระดับท้องถิ่นแนวชายแดน มีการประชุมหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลการเฝ้าระวังโรคอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สามารถรู้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรม นักระบาดวิทยาภาคสนามและสอบสวนโรคร่วมกัน เช่น กรณีการพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกรายแรกของลาว ซึ่งไทยได้ร่วมมือในการตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษาผู้ป่วย และส่งทีงานนักระบาดวิทยาข้ามประเทศไปสอบสวนโรคร่วมกัน ทำให้การควบคุมโรคโรคระบาด ที่ข้ามเขตชายแดน ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ทั้ง 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง ได้ร่วมกันฝึกซ้อมเตรียมการรับมือการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่อาจระบาดขึ้นในไม่ช้านี้ **************** 17 พฤษภาคม 2550


   
   


View 13    17/05/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ