กระทรวงสาธารณสุข เร่งยกระดับพัฒนาสถานีอนามัย 21 แห่ง เป็นศูนย์แพทย์ชุมชนภายในปีนี้ มีหมอพยาบาล เภสัชกร หมอฟัน พร้อมเครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ และรถพยาบาล ให้บริการ 24 ชั่วโมง เป็นด่านหน้ารักษาผู้ป่วยโรคทั่วไปที่ไม่ซับซ้อน ช่วยลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพิ่มความสะดวกให้ประชาชนได้รับการรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน วันนี้ (18 พฤษภาคม 2550) ที่จังหวัดพิษณุโลก นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ ในการให้บริการประชาชนในเขตรับผิดชอบของสถานพยาบาลคู่สัญญาหลัก 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และเทศบาลนครพิษณุโลก เพื่อให้ประชาชนในเขตรับผิดชอบของสถานบริการสาธารณสุขทั้ง 3 แห่ง สามารถเลือกเข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านได้สะดวก ตามลักษณะความเจ็บป่วย ช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในแต่ละโรงพยาบาล โดยนำระบบสารสนเทศมาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยของแต่ละโรงพยาบาล นายแพทย์มรกต กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ พบแต่ละแห่งมีผู้ป่วยมารับบริการจำนวนมาก โดยเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีคนไข้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 1,500-2,000 คน ในขณะที่มีบุคลากรจำกัด ผู้ป่วยต้องเสียรอตรวจเป็นเวลานาน ทั้งที่ส่วนใหญ่เป็นการเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไป สามารถรักษาที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านได้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพ ไม่ต้องรอตรวจนานๆ จึงต้องมีการปรับปรุงระบบบริการ โดยเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานสาธารณสุขรอบนอก เช่น สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน ให้เป็นหน่วยบริการพื้นฐาน ให้บริการฉีดวัคซีน ตรวจครรภ์ ตรวจสุขภาพ ตรวจรักษาโรคทั่วๆ ไป ที่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล รวมทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับยาต่อเนื่อง เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยภายในปี 2550 จะยกระดับสถานีอนามัย 21 แห่งให้เป็นศูนย์แพทย์ชุมชน มีแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตาภิบาล พร้อมอุปกรณ์การตรวจวินิจฉัยโรค เครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ และรถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉิน ให้บริการประชาชน 24 ชั่วโมง หากมีอาการหนักหรือรุนแรง จำเป็นต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูง จึงส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลจังหวัดที่เป็นเครือข่าย สำหรับโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะพัฒนาระบบบริการให้คล่องตัว ใช้เวลารอตรวจสั้นลงจากเดิมจาก 2-3 ชั่วโมงให้เหลือเพียงไม่เกิน 30 นาที หรือใช้การนัดหมายล่วงหน้า กำหนดเวลาให้ เมื่อผู้ป่วยไปถึงสามารถพบแพทย์ตรวจได้ภายในเวลาที่นัด ทางด้านนายแพทย์วิชิต บุณยวรรธนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช กล่าวว่า โรงพยาบาลพุทธ ชินราช เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ให้บริการด้านการตรวจรักษาโรคทุกสาขาและรับส่งต่อผู้ป่วย มีผู้ป่วยมารับบริการประมาณวันละ 2,200 คน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล จึงได้ตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิภายในโรงพยาบาล เพื่อแยกผู้ป่วยโรคทั่วไปๆ ออกจากผู้ป่วยที่แพทย์นัดหรือส่งต่อจากโรงพยาบาลอื่น รวมทั้งการพัฒนาศูนย์แพทย์ชุมชนให้รักษาโรคเรื้อรังต่างๆ ได้อย่างมีคุณภาพด้วย และความร่วมมือที่เกิดขึ้นทั้ง 3 โรงพยาบาลในครั้งนี้ เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาความแออัดของผู้ป่วยของโรงพยาบาลพุทธชินราช เพราะผู้ป่วยบางส่วนที่เจ็บป่วยเล็กน้อย สะดวกที่จะไปรับบริการที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรและศูนย์สุขภาพของเทศบาลนครพิษณุโลก ****************************** 18 พฤษภาคม 2550


   
   


View 15    18/05/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ