“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ยันการปรับเพิ่มค่าบริการรักษาพยาบาล 8 หมวดของสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่กระทบต่อประชาชน และเพิ่มคุณภาพบริการ การปรับครั้งนี้เป็นการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง รายการที่ปรับแก้ทั้งหมดรอบนี้รวมทั้งหมด 2,713 รายการ บริการที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือค่าบริการตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษ
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการปรับเพิ่มค่าบริการของสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขว่า ขอยืนยันการปรับค่าบริการครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99 มีหลักประกันสุขภาพ เป็นการเรียกเก็บจากกองทุนสุขภาพ ได้แก่ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้นค่าบริการทั้งหมดจะเป็นการคิดค่ารักษา เรียกเก็บเงินกันภายในระหว่างสถานพยาบาลและกองทุนทั้ง 3 เท่านั้น และไม่กระทบคุณภาพบริการ การจ่ายยารักษายังคงเป็นไปตามมาตรฐาน ผู้ที่จะได้รับผลกระทบก็คือผู้ที่ไม่ได้อยู่ใน 3 กองทุนข้างต้น เช่น ชาวต่างชาติที่เข้ามา หรือประชาชนไทยในระบบประกันสุขภาพที่ไม่ได้รับการรักษาตามขั้นตอน โดยไม่ได้เข้ารักษาในสถานพยาบาลที่ระบุไว้ตามสิทธิ์ก่อน ซึ่งเป็นการลัดขั้นตอนก็จะต้องรับผิดชอบเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเองตามความเป็นจริง
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า ส่วนที่มีการปรับปรุงราคามี 8 หมวด เพื่อให้เป็นไปปัจจุบัน ตามสภาวะเศรษฐกิจ หลังจากที่ใช้อัตราเดิมมาตั้งแต่พ.ศ.2547 และเพิ่มรายการบริการใหม่ที่ยังไม่ครอบคลุมในรายการของกองทุนต่างๆ ในปัจจุบัน เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในการให้บริการ รวมทั้งมีการปรับนิยามเพื่อแก้ไขปัญหาในการเบิกจ่าย โดยสรุปผลจากการปรับปรุงของคณะอนุกรรมการทั้ง 8 คณะ พบว่ามีรายการใหม่ที่เพิ่มขึ้น 758 รายการ จากเดิมที่มี 1,955 รายการ รวมมีรายการที่จะออกประกาศใหม่ทั้งหมด 2,713 รายการ รายการที่เพิ่มขึ้นสูงสุดคือค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษ เพิ่มร้อยละ 53 เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รองลงมาคือค่าบริการรังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์และรังสีรักษา เพิ่มร้อยละ 23 รายการที่เพิ่มต่ำสุดคือค่าบริการเทคนิคการแพทย์ ร้อยละ 8
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า จากข้อมูลกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีประชาชนอยู่ในระบบ 48 ล้านคน ป่วยและไปใช้บริการจากสถานพยาบาลของรัฐ 32 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ 31 ล้านคน ใช้บริการประมาณ 4 ครั้งต่อปี และมีประมาณ 8- 9 แสนคนที่ใช้บริการมากกว่าปีละ 12 ครั้ง ที่เหลือประมาณ 16 ล้านคนไม่ได้ใช้บริการ ซึ่งอาจมาจากมีสุขภาพดี หรือรักษาที่คลินิค รพ.เอกชน หรือซื้อยากินเอง เนื่องจากไม่พอใจ หรือไม่สะดวกในการใช้บริการ หรือเข้าไม่ถึงการบริการในสถานพยาบาลของรัฐ โดยเฉพาะในคนกทม. ที่พบว่าร้อยละ 72 มักไปซื้อยากินเอง เพราะอาจไม่สะดวกที่จะไปรับบริการในเวลาทำงาน รัฐบาลกำลังหาแนวทางในการช่วยเหลือคนในกทม.ให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ดีขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากการปรับค่าบริการใหม่ครั้งนี้ได้
นอกจากนี้ อัตราค่าบริการที่ปรับใหม่ในครั้งนี้ จะนำไปใช้อ้างอิงในการรักษาพยาบาลคนต่างชาติ เช่นกลุ่มที่ข้ามพรมแดนเข้ามารับการรักษาที่ไทย และกลุ่มที่ต้องการเดินทางมารับการรักษาในเมืองไทย ซึ่งไทยกำลังจะให้มีการทำประกันสุขภาพการเดินทาง หรือทราเวล อินชัวรันซ์ ขึ้น อัตรานี้จะสามารถนำไปคิดค่าใช้จ่ายกับบริษัทประกันได้ คาดว่าจะสามารถลงนามได้ภายในสัปดาห์นี้ และประกาศใช้เป็นเกณฑ์การปฏิบัติประมาณเดือนมีนาคม 2556
“การปรับค่าบริการในครั้งนี้ จะไม่มีผลกระทบให้ต้องปรับค่าใช้จ่ายรายหัวของสปสช.เพิ่มขึ้น เพราะเป็นการเรียกเก็บจากกองทุนสุขภาพของของสถานพยาบาลที่รักษา ซึ่งได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอื่นๆ ทำให้ต้นทุนบริหารจัดการส่วนอื่นลดลงอยู่แล้ว เช่น การจัดซื้อยาร่วมกันโดยให้องค์การเภสัชกรรมเป็นตัวกลาง เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองในการซื้อ ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายของกระทรวงสาธารณสุขลดลงเกือบ 2,000 ล้านบาท และต่อไปจะดำเนินการวิเคราะห์และใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาล ทั้งคน เครื่องมือร่วมกันภายในเครือข่ายบริการ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้อีกหลายพันล้านบาท ทำให้ไม่จำเป็นต้องของบรายหัวเพิ่มขึ้น” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว
ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า คณะอนุกรรมการดำเนินงานปรับค่าบริการมี 8 คณะ ได้แก่ 1.ค่ายาและบริการเภสัชกรรม มีรายการเพิ่มใหม่ 7 รายการ 2.ค่าตรวจพยาธิวิทยา เพิ่มรายการใหม่ 309 รายการ 3.ค่าตรวจรักษาทางรังสีวิทยาและค่าบริการตรวจรักษาทั่วไป เพิ่มรายการใหม่ 35 รายการ 4.ค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษ เพิ่มใหม่ 27 รายการ 5.ค่าบริการทันตกรรม เพิ่มใหม่ 10 รายการ 6.ค่าผ่าตัด ค่าวางยาสลบและยาชา เพิ่มใหม่ 19 รายการ 7.ค่าบริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพิ่มใหม่ 15 รายการ 8.ค่าบริการเวชกรรมฟื้นฟู เพิ่ม 337 รายการ รวมเพิ่มขึ้นใหม่ 758 รายการ ในภาพรวมการกำหนดค่าบริการใหม่ ส่วนใหญ่เพิ่มจากค่าแรง ซึ่งเป็นเงินเดือนประจำของเจ้าหน้าที่ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้า
อัตราค่าบริการใหม่นี้ ใช้หลักเกณฑ์การคิดเช่นเดียวกับปี 2547 คือคิดจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.ต้นทุนค่าแรง เช่น เงินเดือน เป็นต้น 2.ต้นทุนค่ายาและวัสดุ 3.ต้นทุนค่าครุภัณฑ์และอื่นๆ โดยจะจัดทำเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้ในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง เป็นเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าบริการจากกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุน รวมทั้งผู้ที่ใช้ระบบการประกันชีวิตกับบริษัทเอกชนต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม สถานพยาบาลแต่ละแห่งจะมีคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล พิจารณาอัตราค่าบริการดังกล่าวอาจมีการปรับลดลงตามความเหมาะสมของพื้นที่
ทั้งนี้ ค่าบริการผ่าตัดที่มีราคาสูงสุด เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนปอดและหัวใจ เดิม 45,000 บาท เพิ่มเป็น 64,000 บาท การตรวจรักษาโรคโดยวิธีการพิเศษที่มีราคาสูงสุด เช่นค่าใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจถาวร กำหนดราคาใหม่ 80,000 บาท หากใส่ชั่วคราวค่าบริการ 13,000 บาท ค่าตรวจทางเทคนิคการแพทย์ เช่นค่าตรวจหาสารพันธุกรรมของมนุษย์ กำหนดราคา 18,000 บาท รายการบริการรังสีวินิจฉัยราคาสูงสุดเช่น เครื่องตรวจการอุดตันของหลอดเลือดในสมอง ราคาใหม่ 25,000 บาท รายการค่าเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่มีราคาสูงสุดเช่น การรักษามะเร็งตับด้วยรังสี ราคาใหม่ครั้งละ 274,000 บาท ค่าบริการรังสีรักษาราคา 112,000 – 175,600 บาท
************************************** 28 มกราคม 2556