รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศศรีลังกา เจรจากับนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย เพื่อขอซื้อวัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ จากองค์การเภสัชกรรมไทยโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพราะเชื่อมั่นคุณภาพมาตรฐาน ในราคามิตรภาพ พร้อมจะส่งคนมาเจรจารายละเอียด ในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในระหว่างประชุมสมัชชาอนามัยโลก ร่วมกับผู้นำนโยบายด้านการสาธารณสุขจาก 193 ประเทศทั่วโลก ว่า วันนี้ ฯพณฯ นาย เอ็น.เอส. เดอ ซิลวา (Mr.N.S.de Silva) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศศรีลังกา และคณะ ได้ขอพบเพื่อหารือเรื่องการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี (JE vaccine) รวมทั้งสินค้าสุขภาพอื่นๆ จากองค์การเภสัชกรรมของไทย เนื่องจากมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานและราคาถูกกว่าที่อื่น โดยจะดำเนินการจัดซื้อระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล เพื่อตัดช่องทางคนกลางออกไป ทำให้ได้สินค้าราคาถูกลง นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า ผลการหารือ ประเทศศรีลังกามีความต้องการซื้อวัคซีน รวมทั้งยารักษาโรคอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น เซรุ่มแก้พิษงูต่างๆ และถุงมือยางที่ใช้ทางการแพทย์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะมอบให้องค์การเภสัชกรรมทำหน้าที่เป็นคนกลาง ในการจัดหาสินค้าในประเทศไทยตามที่ทาง ศรีลังกาต้องการ โดยเฉพาะเวชภัณฑ์ที่องค์การเภสัชกรรมผลิตอยู่แล้ว เช่น วัคซีน เซรุ่ม น้ำยาล้างช่องท้อง และ ถุงน้ำยาเก็บโลหิต เป็นต้น นอกจากนี้วัสดุการแพทย์ต่างๆ เช่น ถุงมือยางและถุงยางอนามัย ไทยมีบริษัทผู้ผลิตที่มีคุณภาพมากมาย เพราะฉะนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะทำการค้ากับประเทศศรีลังกา ในลักษณะจีทูจี (Government to Government) คือซื้อตรงผ่านรัฐบาลโดยองค์การเภสัชกรรมของทั้ง 2 ประเทศ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่วนสินค้าที่องค์การเภสัชกรรมไทยไม่มี ก็สามารถเชิญผู้แทนบริษัทผู้ผลิตตามที่ศรีลังกาต้องการมาหารือได้ ในการจัดซื้อดังกล่าว ศรีลังกาจะส่งรายการสินค้าที่ต้องการมาล่วงหน้า และจะส่งเจ้าหน้าที่มาเจรจากับผู้เกี่ยวข้องที่ประเทศไทย ในวันที่ 4 มิถุนายน 2550 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นคนกลางให้ หลังจากที่มีการตกลงกันแล้ว และจะเชิญรัฐมนตรีสาธารณสุขศรีลังกา มาลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือทำเอ็มโอยู (MOU : Memorandum of Understanding) เป็นข้อตกลงระยะยาวร่วมกัน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพราะทางศรีลังกาจะได้ยาในราคาที่ถูกลง ส่วนไทยก็ได้จะขายสินค้าได้ และจะได้มีความร่วมมือทางด้านอื่นอีก รวมทั้งหาทางพัฒนากำลังคนร่วมกัน เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการสาธารณสุขระหว่างประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARO) ขององค์การอนามัยโลกด้วยกัน ทำให้เรามีพันธมิตรในการทำงานต่อไป นายแพทย์มงคลกล่าว


   
   


View 12    19/05/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ