เภสัชกรรมร่วมลงนามกับองค์การอนามัยโลก
องค์การอนามัยโลกหนุนไทยมูลค่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อจัดสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ระดับโรงงานต้นแบบกึ่งอุตสาหกรรม ผลิตวัคซีนได้ปีละ 100,000 โดส เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อการสร้างโรงงานผลิตในระดับอุตสาหกรรม ให้พร้อมผลิตวัคซีนทันที หากเชื้อหวัดใหญ่กลายพันธุ์ระบาด มีกำลังการผลิตได้ปีละ60 ล้านโดส มั่นใจอีก 1 ปี คนไทยได้มีโอกาสใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่เมดอินไทยแลนด์แต่มาตรฐานสากลแน่นอน
ช่วงเย็นวันที่18 พฤษภาคม 2550 ที่หอประชุมสหประชาชาติ ประเทศสวิเซอร์แลนด์ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นสักขีพยานร่วมกับแพทย์หญิงมาร์กาเร็ต ชาน (Dr. Margaret Chan)ในการลงนามในข้อตกลงระหว่างองค์การอนามัยโลกกับองค์การเภสัชกรรมไทย เพื่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ระดับกึ่งอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งไทยเป็น 1ใน 6 ประเทศ ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก ได้แก่ เวียตนาม อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก บราซิลและไทย เพื่อเตรียมพร้อมการรับมือการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่ทุกฝ่ายคาดว่าอาจระบาดในไม่ช้านี้
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ตามข้อตกลงที่ได้ลงนามในครั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนงบให้ประเทศไทยทั้งหมด 1,996,000 เหรียญสหรัฐ แบ่งออกเป็น 4 งวด งวดที่ 1 จะได้รับเงิน 250,000 เหรียญสหรัฐ เป็นการเตรียมความพร้อมทั้งหมดตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่เพื่อใช้ผลิตวัคซีน โดยจะต้องได้รับการช่วยเหลือทางวิชาการจากองค์การอนามัยโลก การพัฒนาวิธีการวิเคราะห์วัคซีนและการฝึกอบรมบุคลากรขององค์การเภสัชกรรม และจะได้รับเงินงวดที่ 2 ตามมาอีกจำนวน 900,000 เหรียญสหรัฐ โดยขั้นตอนนี้จะทำการทดลองผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อใช้สำหรับทดสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยการป้องกันโรค พร้อมๆกับเริ่มจัดสร้างโรงงานผลิตระดับกึ่งอุตสาหกรรม หรือไพล็อตแพลนท์ (Pilot Plant) โดยปรับปรุงสถานที่ขององค์การเภสัชกรรมที่ถนนพระราม 6 ที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มเครื่องมือ เทคโนโลยี ที่จำเป็นในการผลิต จัดจ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนทางวิชาการในการผลิตวัคซีนใช้สำหรับทดลองทางคลินิกในคนกลุ่มใหญ่ (Clinical Trial) ประมาณ 10,000 โดสต่อล็อต เพื่อวิจัยในคน ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่กำหนด และนำหลักฐานไปขอขึ้นทะเบียนวัคซีนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไทย (อย.) พร้อมที่จะต่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้เลย โดยองค์การอนามัยโลกก็จะให้เงินงวดที่ 3 อีก 700,000 เหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้หากมีการะบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ในช่วงนี้ องค์การเภสัชกรรมจะสามารถมีกำลังผลิตได้ปีละ 10 ล็อต ๆ ละ 10,000 โดส ได้ทำข้อตกลงว่าองค์การเภสัชกรรมจะต้องจัดส่งวัคซีนที่ผลิตได้ร้อยละ10 ให้องค์การอนามัยโลก เพื่อใช้เก็บสำรองในคลังกลาง ในราคาที่ตกลงกัน ซึ่งขณะนี้ไม่ได้กำหนดราคา
2/นายแพทย์.......................
-2-
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า สำหรับเงินงวดที่ 4 นั้น จะได้รับเงินก็ต่อเมื่อ องค์การเภสัชกรรมจัดทำเอกสารสรุปผลตั้งแต่กระบวนการวิจัย การทดลอง และการผลิตที่ได้มาตรฐานอย่างสมบูรณ์แบบหรือที่เรียกว่า เอสโอพี ( SOP: Standard Operating Procedure) โดยโรงงานย่อยดังกล่าวได้มีการติดตั้งเครื่องมือ เทคโนโลยีที่จำเป็น ในการผลิตวัคซีนในระดับโรงงานย่อยเรียบร้อยทั้งหมด และส่งให้องค์การอนามัยโลก ก็จะให้เงินงวดสุดท้าย เป็นเงิน 146,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งขบวนการทั้งหมดตามสัญญากับองค์การอนามัยจะใช้เวลา 1 ปี
สำหรับการตั้งโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทย จะผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม โดยกรมควบคุมโรคเป็นฝ่ายของบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งได้ผ่านมติคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และครม.กลั่นกรองแล้ว กำลังจะเข้าครม.ในวันที่ 22 พฤษภาคม นี้ ในวงเงินงบประมาณ 1,540 ล้านบาท หรือประมาณ 45 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะผลิตวัคซีนไวรัสเชื้อตาย มีกำลังการผลิตในระบบปกติที่ไม่มีการระบาดได้ปีละ 2 ล้านโดส แต่หากเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ขึ้นจริง มีการติดเชื้อจากคนสู่คน เราสามารถจะนำเชื้อไวรัสเป็นที่เกิดขึ้นซึ่งอาจได้รับมาจากองค์การอนามัยโลกด้วยมาผลิตได้เลย โดยผ่านกระบวนการเพาะเชื้อในไข่ไก่ จะสามารถเพิ่มมีกำลังผลิตได้อีก 30 เท่าหรือ ปีละ 60 ล้านโดส และต้องส่งวัคซีนให้องค์การอนามัยโลกร้อยละ10 เช่นกัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากมีโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดทั้งปกติหรือระบาดใหญ่จากเชื้อพันธ์ใหม่ คนไทยจะมีความปลอดภัย เพราะมีวัคซีนใช้เองในประเทศ ไม่ต้องรอผลผลิตจากที่อื่นอีกต่อไป
นายแพทย์มงคล กล่าวอีกว่า สถานที่ตั้งโรงงานการผลิตนี้อยู่ที่อำเภอทับกวาง จังหวัดสระบุรี บนเนื้อที่ประมาณ 180 ไร่ ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมอยู่ระหว่างการวางแผนออกแบบโรงงานวัคซีน ซึ่งต้องรอผลจากโครงการความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกครั้งนี้ด้วย ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย มาตรฐานความสะอาด ปลอดเชื้อ เนื่องจากเป็นผลิตจากเชื้อไวรัส ซึ่งไทยมีประสบการณ์ในการผลิตวัคซีนจากเชื้อไวรัสและเชื้อ แบคทีเรียอยู่แล้ว และโรงงานแห่งนี้จะเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO GMP)
View 13
19/05/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ