รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทยและบราซิล ประกาศจุดยืนร่วม ในเรื่องของการจัดบริการให้ประชาชนยากจนได้เข้าถึงยา โดยเฉพาะผลตามมาหลังประกาศซีแอล ทำให้ได้ยาดีและถูกลงกว่าปกติถึง 4 เท่าตัว คาดจะมีผลให้ยาอื่นราคาถูกลงอีก พร้อมกระชับมิตรจัดแผนร่วมมือกันพัฒนาด้านสุขภาพ รวมถึงการผลิตวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ในอนาคต จะลงนามความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ ในกลางเดือนสิงหาคม 2550 นี้ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ระหว่างเข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 60 ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่า ได้หารือกับ ฯพณฯ นายโจซี่ โกเมส เทมโปเรโอ (H.E. Mr. Joze Gomez Temperao) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศบราซิล และคณะ รวม 10 คน ซึ่งประเทศบราซิลประกาศการให้ยาต้านไวรัสเอดส์กับผู้ติดเชื้อเอดส์ทุกราย ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 แต่ก็มีปัญหายาราคาแพง ทำให้ผู้ป่วยเอดส์ไม่สามารถเข้าถึงยาที่ดีได้ทุกคน ทั้งนี้บราซิลได้พยายามต่อรองราคายากับบริษัทยาโดยตลอด ซึ่งก็ได้ผลระดับหนึ่งแต่ไม่มากนัก เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ได้ทำการต่อรองราคายาเอฟาวิเรนซ์อีกถึง 7 ครั้ง ได้ลดราคาเพียงร้อยละ 2 แต่พอประกาศว่าจะทำการบังคับใช้สิทธิ์ บริษัทก็ลดราคาลงมาให้ร้อยละ 30 แต่ในที่สุดประธานาธิบดีลูรา ก็ลงนามในประกาศบังคับใช้สิทธิ์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2550 และสามารถซื้อยาจากประเทศอินเดียได้เพียงเม็ดละ 39 เซ็นต์สหรัฐฯ ลดลงกว่าเดิมถึงกว่า 4 เท่า ทำให้คนไข้เข้าถึงยาได้มากขึ้นมาก ในขณะที่ประเทศไทยสั่งในราคาเม็ดละ 45 เซ็นต์สหรัฐ สูงกว่าของบราซิล “การที่บราซิลซื้อยาได้ถูกกว่าไทย เนื่องจากซื้อทีหลังไทย และสามารถต่อรองได้โดยใช้เกณฑ์ราคาของประเทศไทย และส่วนหนึ่งบราซิลซื้อยามากกว่าไทย เพราะมีผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ต้องกินยาเอฟาวิเรนซ์มากถึง 75,000 คน หรือมากกว่าไทยเกือบ 3 เท่า จึงได้ราคาที่ถูกลงไปอีก” นายแพทย์มงคลกล่าว นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า การซื้อยาได้ถูกลงถือว่าเป็นผลดีของการทำซีแอล ฉะนั้นหากเราซื้อต่อไป ก็จะพยายามให้ได้ราคายาต่ำลงเรื่อยๆ เพราะยาชื่อสามัญที่ไม่ติดสิทธิบัตรน่าจะมีแนวโน้มลดลง ขณะนี้มีสัญญาณที่ดี เนื่องจากได้รับแจ้งจากบริษัทเมิร์ก ชาร์ปแอนด์โดรม ว่าจะเจรจากับประเทศไทยที่กรุงเทพฯ อีก หากบริษัทลดราคาสู้กับยาสามัญ ก็จะทำให้อย่างน้อยที่สุด คนที่จะใช้ยาของบริษัทดังกล่าวจะโชคดี เพราะจะได้ยาดีและมีราคาถูกยิ่งขึ้น โดยในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกปีนี้ ประเทศบราซิลได้นำเรื่องการทำซีแอลเข้าสู่การพิจารณาด้วย เพื่อผลักดันให้ที่ประชุมยอมรับหลักความยืดหยุ่นของข้อตกลงการค้าทริปส์ ไม่เกิดการกดดันเนื่องจากการทำซีแอล ไม่ว่าบราซิลหรือไทย ได้ประกาศใช้อย่างโปร่งใส ไม่ผิดกติกา และสากลต่างยอมรับในหลักเกณฑ์นี้ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขไทยจะมีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านสาธารณสุข ระหว่างไทยกับบราซิล ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2550 นี้ ที่ประเทศบราซิล โดยนอกจากความร่วมมือในเรื่องการพัฒนาสุขภาพและการผลิตยาสามัญแล้ว ยังมีแผนจะร่วมกันในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งบราซิลได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทซาโนฟี่ อเวนตีส ส่วนโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของไทย ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศจีน ภายใต้การสนับสนุนทางวิชาการจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งผลประโยชน์จะเกิดขึ้นมากมายกับประเทศไทย และยังสามารถใช้ความร่วมมือทางสาธารณสุข ขยายผลความร่วมมือทางการค้าหรืออื่นๆ ระหว่างกันต่อไปได้ นายแพทย์มงคลกล่าว


   
   


View 9    20/05/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ