สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ไม่ติดใจในประเด็นถูกกฎหมายในการทำซีแอลของประเทศไทย และเข้าใจคำชี้แจงในเรื่องความโปร่งใส พร้อมตรวจสอบข้อมูลเพื่อความชัดเจน หลังหมอมงคลนำทีมเข้าหารือชี้แจง ไขข้อสงสัยทุกประเด็น พร้อมทั้งยังได้พันธมิตรหลายฝ่าย รวมทั้งบริษัทยาจีลีด ที่ระบุต่อยูเอสทีอาร์ชัดว่า ซีแอลไทยไม่กระทบงานวิจัยและพัฒนายาใหม่ วันนี้ (21 พฤษภาคม 2550) เวลา 22.00 น. ซึ่งตรงกับเวลา 09.00 น. (22 พฤษภาคม 2550) ในประเทศไทย นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังนำคณะ ประกอบด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการควบคุมโรค นายกฤษณ์ กาญจนกุญชร เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา นางนงนุช เพชรรัตน์ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ และนายวิรชัย พลาศัย อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เข้าพบกับท่านทูต จอห์น เค เวอโรโน (Ambassador John K. Veroneau) รองหัวหน้าผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา หรือยูเอสทีอาร์ (USTR) นายคารอส เอ็ม. กูเตเรส (Mr.Carlos M. Gutierrez) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเฮนรี่ เอ.แวกแมน (Mr.Henry A. Waxman) สมาชิกสภาผู้แทนฯ พรรคเดโมเครต รัฐแคลิฟอร์เนีย และประธานคณะกรรมาธิการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ของวุฒิสมาชิกไลเบอร์แมน (Lieberman) และวุฒิสมาชิกลอเต็นเบอร์ก (Lautenberg) เพื่อชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริง กรณีที่ประเทศไทยประกาศใช้ซีแอลโดยรัฐในยา 3 ตัว ได้แก่ ยาเอฟฟาวิเรนซ์ (Efavirenz) และยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) และยาโลพินาเวียร์ (Lopinavir) + ริโทรนาเวียร์ (Ritronavir) นายแพทย์มงคลกล่าวว่า การพบหน่วยงานต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ ทุกจุดให้การต้อนรับอย่างดียิ่ง รองผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้รับทราบประเด็นสำคัญของซีแอล หลักการและเหตุผลของการทำซีแอลของประเทศไทย ซึ่งประการแรกมุ่งที่จะขยายการเข้าถึงยาของผู้มีรายได้น้อย ที่มีร้อยละ 80 ของประเทศ โดยไม่กระทบตลาดยาสิทธิบัตรของประชาชน ร้อยละ 20 ที่มีความสามารถในการจ่ายค่ายาเอง รวมทั้งชาวต่างประเทศที่ไปรักษาในประเทศไทย ซึ่งมีปีละประมาณ 2 ล้านคน คนกลุ่มนี้เป็นลูกค้าเดิมของบริษัทยา เท่ากับคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่จ่ายเงินสนับสนุนการวิจัยและพัฒนายาใหม่ ส่วนคนอีกร้อยละ 80 ที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งไม่ใช่เป็นลูกค้าของยาที่มีสิทธิบัตรอยู่แล้ว ก็จะเข้าถึงยาได้ด้วย เพราะฉะนั้นมาตรการซีแอล จึงได้ผล 2 ทาง คือ ผู้มีรายได้ต่ำก็เข้าถึงยา และไม่กระทบต่อการวิจัยและพัฒนายาใหม่ ประการที่ 2 กระบวนการที่ไทยดำเนินการใช้ซีแอล ที่มีข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใสนั้น เราได้ชี้แจงอย่างชัดเจนถึงกระบวนการเจรจาต่อรองราคาก่อนหลายครั้ง เมื่อไม่สำเร็จและเห็นว่าจำเป็นต้องทำซีแอล ทั้งๆ ที่พ.ร.บ.สิทธิบัตรของเราและข้อตกลงทริปส์ ไม่กำหนดที่เราต้องประกาศก่อน แต่เราก็ได้ประกาศและแจ้งให้เจ้าของสิทธิบัตรทราบพร้อมกันในวันที่ประกาศ หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้ใช้สิทธิโดยทันที แต่ได้มีการเจรจาอีกหลายครั้ง ไม่สามารถตกลงราคาที่เหมาะสมได้ จนกระทั่งยาในสต็อคใกล้หมด จำเป็นต้องสั่งเข้ามาเพิ่ม เราจึงบังคับใช้สิทธิ์และสั่งยาเข้ามาใช้ ประการที่ 3 เกี่ยวกับความกังวลในเรื่องความไม่แน่นอน ในการทำซีแอลเพิ่มเติมอีกหรือไม่ จำนวนเท่าใดของประเทศไทย เราได้ชี้แจงว่า ซีแอลจะทำได้ตามเงื่อนไขหลายประการโดย (1.) จะต้องมียาสามัญที่มีคุณภาพ ในท้องตลาด (2.) ยานั้นจะต้องเป็นยาจำเป็นเพื่อการรักษาชีวิต มิใช่ยาจำพวกที่เกี่ยวกับลีลาชีวิต (Life style drug) เช่น ยาปลูกผม ยาแก้โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ยาแก้สิวเป็นต้น (3.) ต้องเป็นยาที่เราพิจารณาเห็นว่าเหมาะสม และจำเป็นในการที่จะเข้าถึงประชากรส่วนใหญ่ ซึ่งข้อชี้แจงทั้งหมดนี้ ทำให้ทางยูเอสทีอาร์เข้าใจ และเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ดี มีเหตุผล แต่จะต้องพิจารณาตรวจสอบข้อมูลต่างๆ อย่างรอบคอบ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย อย่างเหมาะสม บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องอย่างแท้จริง นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า ในการพบปะกับท่านประธานฯแว็กซ์แมน ปรากฏว่าท่านมีความเข้าใจประเทศไทยอย่างดียิ่ง และรับปากว่าจะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อช่วยเหลือประเทศไทย โดยจะให้ข้อมูลยูเอสทีอาร์ และทำจดหมายอย่างเป็นทางการถึงยูเอสทีอาร์อีกฉบับหนึ่งในเร็ววัน เพื่อสอบถามความโปร่งใสเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจของยูเอสทีอาร์ และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และจะพยายามดึงให้หน่วยงานของรัฐ หลุดพ้นออกจากอิทธิพลของบริษัทยา เพื่อทำหน้าที่ที่พึงควรต่อประชาชน ทางด้านนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การพบปะกับหัวหน้าคณะเลขานุการของวุฒิสมาชิกทั้ง 2 ท่าน คือวุฒิสมาชิกไลเบอร์แมน และวุฒิสมาชิกลอเต็นเบอร์ก ที่ร่วมกับสมาชิกสภาคองเกรสอีก 2 คน เขียนจดหมายไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของประเทศไทย โดยพบกับทีมงานรวมทั้งหมด 4 คน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ชี้แจงและตอบข้อซักถามทุกข้อจนเป็นที่กระจ่าง เชื่อว่าทีมงานของวุฒิสมาชิกทั้ง 2 ท่าน มีความเข้าใจการดำเนินการเรื่องซีแอลของไทยถูกต้อง และชัดเจนกว่าเดิมเป็นอันมาก ทั้งในแง่หลักการ เหตุผล การดำเนินการอย่างโปร่งใส และความชัดเจนเรื่องอนาคตของการทำซีแอลในประเทศไทย สำหรับในภาคบ่ายเดียวกัน บริษัทจีลีด (Gilead) ได้ขอพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่มีนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงยา โดยการให้สิทธิโดยสมัครใจกับผู้ผลิตในบางประเทศ เช่น อินเดีย ให้ผลิตยาที่ตัวเองเป็นเจ้าของสิทธิบัตร แล้วส่งไปขายประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยตั้งราคาตามระดับเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ บริษัทจีลีดได้ทำหนังสือถึงยูเอสทีอาร์ แจ้งว่าการดำเนินการเรื่องซีแอลของไทยไม่กระทบต่อการวิจัยและพัฒนาและการลงทุนของบริษัทจีลีดแต่ประการใด ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ มีท่าทีชัดเจนสนับสนุนนโยบายของบริษัทยา แต่ก็มีโอกาสรับฟังเหตุผลความจำเป็น และการดำเนินการที่โปร่งใสของประเทศไทย นายแพทย์วิชัยกล่าว จากการพบปะพูดคุยในวันแรกพบว่า ทั้งผ่ายบริหารและผ่ายรัฐสภาของสหรัฐฯ ได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำซีแอลของประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ไทยจะทำซีแอลจำนวนมากจนเป็นปกติ และประเด็นที่ว่าจะกระทบต่อการลงทุนในการวิจัยพัฒนาของบริษัทยาอย่างรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องรีบทำความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างจริงจัง โดยความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากหน่วยงานทุกส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก ******************** 21 พฤษภาคม 2550


   
   


View 9    22/05/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ