รมช.มรกต ชี้ไขมันสะสมในช่องท้อง เป็นตัวการเกิดโรคเบาหวาน และนำไปสู่สารพัดโรคเรื้อรัง ต้องกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักและดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยบุคลากรสาธารณสุขต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่าง ซึ่งผลสำรวจล่าสุดพบเจ้าหน้าที่ในกระทรวงฯ ประมาณครึ่งหนึ่ง รอบเอวเกินมาตรฐานและอ้วนลงพุง กรมอนามัยเร่งนำร่องลดพุงเจ้าหน้าที่ วันนี้ (25 พฤษภาคม 2550) นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการองค์กรต้นแบบรักษ์สุขภาพ กรมอนามัยไร้พุง ว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่าโรคอ้วนเป็นภัยเงียบที่กำลังคุกคามสุขภาพคนทั่วโลก ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ประมาณร้อยละ2-6 ของงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศ คนที่อ้วนลงพุง จะมีไขมันสะสมในช่องท้องปริมาณมาก ยิ่งรอบพุงมากเท่าไหร่ ไขมันยิ่งสะสมในช่องท้องมากเท่านั้น ไขมันที่สะสมนี้ จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ มีผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี ทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดสูงและเกิดโรคเบาหวาน นำไปสู่โรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมา อาทิ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น นายแพทย์มรกต กล่าวต่อว่า ภาวะอ้วนลงพุงสัมพันธ์กับพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย ทั้งนี้ จากการสำรวจของกองโภชนาการ กรมอนามัย ในปี 2546 พบคนไทยกินผักเพียง 36 กรัม/คน/วัน ต่ำกว่ามาตรฐานคือ 400 กรัม/คน/วัน ส่วนการกินน้ำตาลและไขมันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การเคลื่อนไหว/ออกกำลังกายในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ลดลงจากร้อยละ 83.2 ในปี 2548 เหลือร้อยละ 78.1 ในปี 2549 ซึ่งเมื่อสำรวจภาวะอ้วนลงพุงของคนไทย อายุ 19-59 ปี โดยใช้เกณฑ์เส้นรอบเอว คือ ไม่เกิน 90 ซม. ในชาย และไม่เกิน 80 ซม. ในหญิง พบว่าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 35.8 ในปี 2549 แนวทางแก้ไขจึงต้องทำให้ประชาชนตระหนักถึงอันตราย และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต พฤติกรรมการกินให้เหมาะสม โดยเริ่มจากบุคลากรสาธารณสุข ในฐานะเป็นคนในวงการสุขภาพ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชนต่อไป ด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังและติดตามภาวะอ้วนลงพุงของเจ้าหน้าที่กรมอนามัย ทั้งชายและหญิงรวม 532 คน ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2550 พบว่า ผู้ชายมีรอบเอวเกินมาตรฐาน ร้อยละ 37.5 ผู้หญิง ร้อยละ 35.6 ส่วนภาวะไขมันในช่องท้องเกินเกณฑ์ 100 ตร.ซม. ผู้ชายพบร้อยละ 50.5 และผู้หญิง ร้อยละ 28.4 ทั้งนี้ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบุคลากรสาธารณสุข รวมทั้งประชาชนทั่วไป กรมอนามัยจึงได้จัดโครงการองค์กรต้นแบบรักษ์สุขภาพ กรมอนามัยไร้พุง เริ่มต้นรณรงค์ในเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง 17 แห่งก่อน โดยมีนักโภชนาการและนักวิชาการด้านการออกกำลังกาย เป็นผู้ให้คำปรึกษาและติดตามประเมินผล ก่อนขยายผลหน่วยงานต้นแบบรักษ์สุขภาพให้ครอบคลุมทั้งกระทรวง และร่วมมือกับเครือข่ายคนไทยไร้พุง 6 องค์กร รณรงค์ในประชาชนทั่วประเทศต่อไป ******************************************* 25 พฤษภาคม 2550


   
   


View 5    25/05/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ