กระทรวงสาธารณสุข จับมือกระทรวงการต่างประเทศ แก้ปัญหาสุขภาพไร้พรมแดน พร้อมเตรียมพิจารณาส่งบุคลากรสาธารณสุข ประจำการ ณ สถานทูตในต่างประเทศ
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ในระหว่างประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 60 ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่า ได้มีการประชุมร่วมกับ ฯพณฯ นางสาวเอส. บรัสตัด (Ms. S. Brustad) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศนอร์เวย์ และรัฐมนตรีสาธารณสุขของอีก 5 ประเทศ ได้แก่ เซเนกัล อินโดนีเซีย บราซิล ฝรั่งเศส และสหภาพอัฟริกาใต้ เพื่อปรึกษาเรื่องความร่วมมือระหว่างการสาธารณสุข และการต่างประเทศ ในการแก้ปัญหาสาธารณสุขที่ไร้พรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ
การปรึกษากันในครั้งนี้ ต่อเนื่องจากการประชุมร่วมกันของรมว.ต่างประเทศทั้ง 7 ประเทศ ณ กรุงออสโล นอร์เวย์ ในเดือนเมษายน ซึ่งได้มีคำประกาศพันธะสัญญาร่วมกันที่จะส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าว โดยจะครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องสุขภาพและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายบุคลากรสาธารณสุข การค้าระหว่างประเทศ การควบคุมอาหารและยา การเข้าถึงยาจำเป็น โดยเฉพาะยาเอดส์ และการควบคุมโรคระบาดระหว่างประเทศ ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก (International Health Regulation) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนนี้
ในทางปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างเข้มแข็ง จริงจัง กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกันทำงานอย่างเข้มแข็ง ในการสนับสนุนการทำงานของผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจากทุกประเทศ เพื่อทำตามความคิดและข้อตกลงที่รมต.ต่างประเทศของทั้ง 7 ประเทศ ได้ร่วมกันลงนามไว้ที่กรุงออสโลว์ สำหรับประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้ นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แทนไทยในคณะผู้เชี่ยวชาญอาวุโสดังกล่าว
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า ตัวอย่างของความร่วมมือด้านนี้ที่ผ่านมาที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ความร่วมมือไทย-ลาวในการควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดนก ความร่วมมือด้านสาธารณสุขภายใต้กรอบความร่วมมือ แอคเมค ( ACMECS) อาเซียน (ASEAN) และเอเปค (APEC) ปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในข้าวไทยที่ส่งไปจำหน่ายในออสเตรเลีย และความร่วมมือเกี่ยวกับการควบคุมการระบาดของโรคเอดส์ รวมทั้งการใช้มาตรการการบังคับใช้สิทธิ์เพื่อขยายการเข้าถึงยาเอดส์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานกันอย่างใกล้ชิด จนเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนไทยและประชาคมโลก ความร่วมมือนี้อาจขยายไปสู่การส่งข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ไปปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวหรือประจำ ในสถานทูตไทยในต่างประเทศบางแห่ง เช่น สำนักงานผู้แทนถาวรไทย ณ นครเจนีวา เป็นต้น โดยเฉพาะเมื่อรมว.สธ.ไทยได้รับตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารขององค์กรยูเอ็นเอดส์ ทำให้ต้องมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับทางยูเอ็นเอดส์ ฯพณฯ สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา จึงได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาจัดส่งข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข มาปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวหรือประจำ ที่สำนักงานผู้แทนถาวรไทย ณ นครเจนีวา เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
การร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศ ของทั้ง 7 ประเทศนี้ จะมีการขยายวงกว้างไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงผลแห่งความร่วมมือดังกล่าว ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ในเดือนกันยายน โดยประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเตรียมการเรื่องนี้ ในช่วงเดือน กรกฎาคมหรือสิงหาคมนี้
*************************** 25 พฤษภาคม 2550
View 7
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ