สาธารณสุข ชูความสำเร็จศูนย์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตเด็กพิการในโรงพยาบาลบ้านตาก โรงพยาบาลชุมชนแห่งเดียวในประเทศ สามารถช่วยเด็กพิการ/เด็กพิเศษในชุมชน ให้ได้รับการบำบัดฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ 80 เตรียมขยายผลเป็นศูนย์ต้นแบบพัฒนางานฟื้นฟูสุขภาพผู้พิการทุกกลุ่มอายุ วันนี้ (26 พฤษภาคม 2550) ที่จังหวัดตาก นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ นายกสมาคมแม่บ้านสาธารณสุข เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพดีเด่นระดับจังหวัด ที่วัดพระบรมธาตุบ้านตาก ซึ่งเป็นวัดที่มีผลงานดีเด่นได้รางวัลระดับจังหวัดในปี 2550 หลังจากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลบ้านตาก ซึ่งเป็นโรงพยาบาล 1 ใน 6 โรงพยาบาลต้นแบบของ ก.พ.ร. และเยี่ยมชมการดำเนินงานศูนย์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตเด็กพิการ และศูนย์เด็กเล็กในโรงพยาบาลบ้านตาก นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมในวันนี้ รู้สึกชื่นชมโรงพยาบาลบ้านตาก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งเดียวในประเทศ ที่ประสบผลสำเร็จในการดูแลเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการได้อย่างสมบูรณ์ โดยมีทีม สหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักกายภาพบำบัด วางแผนดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้ครอบครัวเด็กเข้าถึงบริการง่ายขึ้น ลดระยะเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับการรักษาในโรงพยาบาลซึ่งอยู่ห่างไกล ทำให้เด็กได้รับการบำบัดฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง นับเป็นตัวอย่างที่ดีให้โรงพยาบาลชุมชนอื่น ๆ นำไปเป็นต้นแบบ ซึ่งสามารถขยายผลจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพผู้พิการ เพื่อดูแลผู้พิการทั้งในกลุ่มเด็ก วัยทำงานหรือวัยสูงอายุต่อไป นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า จากการรายงานพบว่าอำเภอบ้านตากมีผู้พิการที่มาขึ้นทะเบียนผู้พิการแล้ว 369 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กพิการ 87 ราย การดำเนินงานที่ผ่านมาหลังจากคัดกรองแล้ว จะส่งเด็กไปบำบัดฟื้นฟูที่ศูนย์พัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ และจากการติดตามผลเด็กพิการและเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า 40 ราย พบว่าส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ครอบครัวต้องหยุดงาน ทำให้ขาดรายได้ เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้เด็กกลุ่มนี้มากกว่าร้อยละ 80 ขาดการฟื้นฟูที่ต่อเนื่อง ทางด้านนายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก กล่าวว่า โรงพยาบาลบ้านตากได้จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตเด็กพิการ เพื่อบำบัดฟื้นฟูทั้งด้านจิตใจ การแพทย์ และเตรียมความพร้อมด้านสังคมให้เด็กสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนปกติ โดยเริ่มการฝึกพัฒนาการแบบต่อเนื่องให้กับเด็กพิการและเด็กพิเศษ แยกเป็น 2 พวก คือ เด็กที่มารับบริการที่โรงพยาบาลได้ และเด็กที่ต้องไปบำบัดฟื้นฟูพัฒนาการให้ที่บ้าน โดยเด็กจะได้รับการฝึกกระตุ้นพัฒนาการ พร้อมกับการให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพของผู้ปกครองให้เป็นผู้ส่งเสริมการฝึกให้เด็กที่บ้าน ขณะนี้มีเด็กพัฒนาการล่าช้าเข้ารับการดูแลในคลินิก 47 ราย ส่วนใหญ่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า ทางด้านสติปัญญา การสื่อสาร และพฤติกรรมการเรียนรู้ พิการทางสมอง ออทิสติก เด็กทุกคนได้รับการวางแผนการฟื้นฟูเป็นรายบุคคล และได้รับการติดตามเยี่ยมบ้านอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ปัจจุบันมีเด็กพิการ เด็กพิเศษ ได้รับการบำบัดฟื้นฟูจนสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติแล้ว 13 ราย พฤษภาคม8/7 **************************** 26 พฤษภาคม 2550


   
   


View 5    26/05/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ