กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจล่าสุดพบคนไทยสูบบุหรี่ 11 ล้านคน โดยติดงอมแงม 9 ล้านคน และมีคนเสี่ยงมะเร็งจากการสูดควันบุหรี่ในบ้านมากถึง 16 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กเกือบ 3 ล้านคน ชี้หากนักสูบไทยหยุดสูบ 1 วัน จะลดแพร่ควันมรณะได้ถึง 100 ล้านมวน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะบังคับให้บุหรี่ซิการ์ที่ผลิตและนำเข้าจำหน่ายในประเทศ ต้องติดภาพคำเตือน 4 สี 5 ภาพเหมือนบุหรี่ซิการ์แร็ต ในเดือนกันยายน 2550 นี้ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 100,000 บาท วันนี้ (31 พฤษภาคม 2550) เวลา 15.00 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงเปิดงานวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2550 ที่ศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ โดยมี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เฝ้ารับเสด็จฯ ในการนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงประทานโล่รางวัลแด่หน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรมควบคุมยาสูบและจัดให้สถานที่ราชการเป็นเขตปลอดบุหรี่ บุคคลผู้กระทำคุณประโยชน์ ผู้ให้การสนับสนุน และผู้มีผลงานดีเด่นด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ จำนวน 27 ราย และทรงปรุงเมนูปลาช่อนลุยสวน เครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ประทานแก่ผู้ชนะการประมูลเมนูสุขภาพ เพื่อนำรายได้สมทบทุนสมาคมผู้ไร้กล่องเสียงในประเทศไทย กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ และมีบริการตรวจสุขภาพ วัดความดันโลหิต ให้คำปรึกษาในการเลิกบุหรี่ แจกน้ำยาบ้วนปากอดบุหรี่ และให้คำแนะนำด้านกฎหมายแก่ประชาชนที่เข้าชมงาน ฟรี จนถึงเวลา 19.00 น. นายแพทย์มงคลกล่าวว่า ในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก รณรงค์ให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่ โดยขอความร่วมมือให้ผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกซึ่งขณะนี้มีประมาณ 1,300 ล้านคนหรือ 1 ใน 3 ของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ ให้หยุดสูบบุหรี่อย่างน้อย 1 วันในวันนี้ ในปีนี้มุ่งเน้นการคุ้มครอง สุขภาพประชาชนที่ไม่สูบบุหรี่ซึ่งทั่วโลกมีประมาณ 6,000 ล้านคน จากควันบุหรี่มือสองที่มาจากผู้สูบบุหรี่ โดยกำหนดคำขวัญรณรงค์ ว่า “ไร้ควันบุหรี่ สิ่งแวดล้อมดี ชีวีสดใส” หรือ SMOKE-FREE ENVIRONMENTS ขณะนี้ ภัยจากการสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของประชากรโลกในอันดับต้นๆ ปีละ 5 ล้านคน เฉลี่ยนาทีละประมาณ 10 คน หากไม่มีการรณรงค์แก้ปัญหาใด ๆ คาดว่าในอีก 14 ปีข้างหน้า หรือใน พ.ศ. 2563 ครึ่งหนึ่งของผู้สูบบุหรี่ในวันนี้ หรือประมาณ 650 ล้านคน จะจบชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะวัยแรงงาน นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลกรายงานผลสำรวจปัญหาของบุหรี่มือสอง ระหว่างปี 2542 – 2548 โดยสัมภาษณ์นักเรียนอายุ 13 – 15 ปีจาก 132 ประเทศทั่วโลก พบว่าร้อยละ 44 ได้รับควันบุหรี่ที่บ้าน อีกร้อยละ 56 ได้รับในสถานที่สาธารณะ ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 11 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินเดีย พม่า ติมอร์ตะวันออก อินโดนีเซีย บังคลาเทศ เนปาล ศรีลังกา ภูฐาน เกาหลีเหนือ และมัลดีฟ พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของเด็กนักเรียนไทยมีถึงร้อยละ 11.7 สูงกว่าอินเดียซึ่งมีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 4.2 /นอกจากนี้ยังพบว่า... - 2 - นอกจากนี้ยังพบว่ากว่าร้อยละ 50 ของนักเรียนเกือบทุกประเทศ รับควันบุหรี่มือสองในสถานที่สาธารณะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายการห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะในภูมิภาคนี้ ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จะต้องเพิ่มความจริงจังให้มากกว่านี้ เนื่องจากในบุหรี่ 1 มวนเมื่อเกิดการเผาไหม้ จะเกิดสารพิษมากกว่า 4,000 ชนิด และในควันบุหรี่มือสองมีสารพิษอย่างน้อย 250 ชนิด โดยเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด จึงไม่มีใครปลอดภัยแม้จะไม่ได้เป็นผู้สูบบุหรี่ก็ตาม นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่เพียง 1 คนในเวลา 25 ปี จะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอด 2 เท่าของบ้านที่ไม่มีคนสูบบุหรี่ สำหรับประเทศไทย ผลสำรวจล่าสุดปี 2549 โดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล พบครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ในบ้านมากถึง 7 ล้านกว่าครัวเรือนจากทั้งหมด 18 ล้านครัวเรือน หรือเกือบร้อยละ 40 แสดงว่ามีคนไทยจำนวนเกือบ 16 ล้านคนที่เสี่ยงเป็นมะเร็งเพราะสูดควันบุหรี่มือสอง ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีเกือบ 3 ล้านคน ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2549 พบคนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ถึง 11 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ในจำนวนนี้เป็นชาย 10.3 ล้านคน ที่เหลือเป็นผู้หญิง และมีคนติดบุหรี่ประมาณ 9.5 ล้านคน คนใต้ติดบุหรี่มากที่สุด สูบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 25 – 29 ปี อายุเฉลี่ยเริ่มสูบ 18 ปี อัตราการสูบของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 15 เท่า โดยสูบเฉลี่ยวันละ 10 มวน เป็นที่น่าสังเกตว่าในกลุ่มผู้หญิงแม้สูบบุหรี่น้อยกว่าชาย แต่อัตราการสูบเพิ่มจาก 7 มวนเป็น 8 มวน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ คือ มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง ปีละ 52,000 คน รัฐต้องสูญค่ารักษาไปปีละ 44,050 ล้านบาท และหากหยุดสูบบุหรี่เพียง 1 วัน จะสามารถหยุดการแพร่ควันพิษได้มากกว่า 100 ล้านมวน ประหยัดเงินกว่า 200 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจัดสถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ ดำเนินการไปแล้ว 20 กระทรวง 9 หน่วยราชการเมื่อต้นปี 2549 พบว่าได้ผลดี ในปี 2550 จะขยายผลไปส่วนภูมิภาคทั้ง 75 จังหวัด และจะจัดกิจกรรมค่ายบำบัดรักษาเพื่อลดละเลิกบุหรี่อย่างจริงจัง ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2550 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ตามพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 คือประกาศกระทรวงฉบับที่ 13 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้บุหรี่ซิการ์ที่นำเข้าหรือผลิตในประเทศไทย จะต้องติดภาพและคำเตือนถึงพิษภัยบุหรี่เช่นเดียวกับบุหรี่ซิการ์แร็ต โดยบังคับให้ติดภาพคำเตือน 5 ภาพ พิมพ์ 4 สี ได้แก่ สูบแล้วปากเหม็นบุหรี่ ควันบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด ควันบุหรี่นำชีวิตสู่ความตาย สูบแล้วเป็นมะเร็งช่องปาก และสูบแล้วเป็นมะเร็งกล่องเสียง โดยกำหนดให้พิมพ์ในขนาด 50 เปอร์เซ็นต์ของขนาดภาชนะบรรจุทุกรูปทรงที่มีพื้นที่ผิวมากกว่า 350 ตารางเซนติเมตร หากพื้นที่ภาชนะบรรจุน้อยกว่านี้ ให้พิมพ์ขนาดพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2550 ส่วนบุหรี่ซิการ์ที่นำเข้าหรือผลิตก่อนประกาศกระทรวงได้ผ่อนผันให้อีก 6 เดือน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 28 กันยายน 2550 หากหลังจากนี้ผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ยกเว้นบุหรี่ซิการ์ที่ผลิตหรือนำเข้าเพื่อส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ หรือเพื่อนำมาเป็นตัวอย่างการวิเคราะห์ วิจัยในประเทศไทย


   
   


View 5    31/05/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ