รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจับตาโรคไข้หวัดนก “90 วันอันตราย” พร้อมออกประกาศเตือนประชาชน ระวังภัยจาก 9 โรคติดต่อที่พบบ่อย มาพร้อมฤดูฝน อาทิ โรคท้องร่วง โรคฉี่หนู ปอดบวม ไข้เลือดออก ตลอดเดือนพฤษภาคม 2550 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยแล้ว 2 หมื่นกว่าราย เสียชีวิต 6 ราย นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในฤดูกาลนี้ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลายชนิด สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โดยสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดที่สุดคือ โรคไข้หวัดนก แม้ว่าในประเทศไทยตลอด 5 เดือนปีนี้ยังไม่พบการติดเชื้อในคนก็ตาม แต่ก็ประมาทไม่ได้ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านยังมีสัตว์ปีกติดเชื้อและพบคนป่วย รวมทั้งอาการของโรคไข้หวัดนกใกล้เคียงกับโรคที่พบในฤดูฝนได้ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคไข้เลือดออก อาการที่เป็นลักษณะเด่นจะเริ่มต้นจากมีไข้สูงมาก่อน จึงต้องอาศัยการซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ประกอบการวินิจฉัยร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ นายแพทย์มงคลกล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่ง จับตาโรคไข้หวัดนกเข้มข้นเป็นพิเศษเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2550 เป็นช่วง 90 วันอันตราย ให้แพทย์ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโดยละเอียด เพื่อป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่กลายพันธุ์จากการผสมข้ามสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ส่วนในหมู่บ้านได้ขอความร่วมมือ อสม. 800,000 คน ติดตามการป่วยของสัตว์ปีกในหมู่บ้าน ตามมาตรการที่มีอยู่แล้วอย่างต่อเนื่องและรายงานผลทุกวัน ทั้งนี้ผลจากการเฝ้าระวังไข้หวัดนก ในกลุ่มของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยปอดบวม ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล จำนวน 1,357 ราย จาก 66 จังหวัด ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2550 โดยซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกและตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ยังไม่พบรายใดติดเชื้อไข้หวัดนก สำหรับในส่วนกลาง ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคประชุมคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ เพื่อประเมินสถานการณ์การเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ออกประกาศเตือนประชาชนในการป้องกันโรคติดต่อที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝน ที่สำคัญมี 5 กลุ่ม รวม 9 โรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร ที่พบบ่อยคือ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคบิด 2.กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง ที่พบบ่อยคือ โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคไข้ฉี่หนู อาการเด่นคือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อที่น่องและโคนขาอย่างรุนแรง ตาแดง 3.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อยและอาการค่อนข้างรุนแรงคือ ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม และ 4.กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ที่สำคัญคือ โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นตัวการนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้าน และโรคไข้สมองอักเสบเจอี ซึ่งมียุงรำคาญในทุ่งนาและตามชนบทเป็นตัวนำโรค รวมทั้งโรคไข้มาลาเรีย ที่เกิดจากยุงก้นปล่องกัดผู้ที่เข้าไปในป่าเขา และ 5.โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา จากการเฝ้าระวังโรคดังกล่าวตลอดเดือนพฤษภาคม 2550 พบผู้ป่วยแล้ว 21,919 ราย ส่วนใหญ่กว่า ร้อยละ 99 รักษาหาย มีเสียชีวิต 6 ราย จากโรคปอดบวม 4 ราย และอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 2 ราย ซึ่งสถานการณ์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ /นายแพทย์ธวัช... -2- นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อไปว่า หากประชาชนป่วย มีไข้สูง กินยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอลแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน ต้องพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกกับโรค เพราะทุกโรครักษาหายขาดได้ ห้ามซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง โดยเฉพาะยาจำพวกแอสไพรินห้ามกินอย่างเด็ดขาด เพราะมีอันตรายกับบางโรค ที่สำคัญคือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้ฉี่หนู ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ เมื่อได้รับยาแอสไพริน ซึ่งมีสารป้องกันเลือดแข็งตัวเข้าไป จะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น ทำให้เสียชีวิตได้ ในการป้องกันโรคเหล่านี้ ขอให้ประชาชนยึดหลักการต่อไปนี้คือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้ารักษาร่างกายให้อบอุ่น เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะเด็กกับผู้สูงอายุควรดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง หนาวเย็น จะทำให้ร่างกายที่มีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนวัยอื่นๆ อยู่แล้ว ต่ำลงไปอีก จึงมีโอกาสติดเชื้อโรคทางเดินหายใจได้ง่าย และล้างมือบ่อยๆ ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำที่ต้มแล้ว รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ตรวจดูโอ่งน้ำหรือภาชนะเก็บน้ำอื่นให้มีฝาปิดมิดชิด และเปลี่ยนน้ำจานรองขาตู้ แจกันไม้ประดับทุก 7 วัน ปล่อยปลาหางนกยูงในอ่างบัว ทำลายแหล่งที่มีน้ำขัง เช่น กะลา กระป๋อง ยางรถยนต์เก่า เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ถ่ายอุจจาระลงส้วม ในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง หากส้วมใช้การไม่ได้ ห้ามถ่ายอุจจาระลงน้ำ ขอให้ถ่ายอุจจาระลงในถุงพลาสติก แล้วปิดปากถุงให้แน่น ทั้งนี้หลังเดินย่ำน้ำ ลุยน้ำแช่ขังหรือน้ำสกปรก ให้ล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้ง แล้วใช้ผ้าที่สะอาดเช็ดให้แห้ง อย่าปล่อยให้อับชื้นเป็นเวลานาน แนะนำให้ใช้เครื่องป้องกันให้เป็นนิสัย เช่น ใส่รองเท้าบู๊ท หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่ชื้นแฉะที่มีการเลี้ยงสัตว์ และสัมผัสปัสสาวะสัตว์ นายแพทย์ธวัชกล่าว มิถุนายน/1-2 ********************************* 3 มิถุนายน 2550


   
   


View 7    03/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ