องค์การอนามัยโลก คัดเลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประชุมการควบคุมบุหรี่ระดับโลกครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-6 กรกฎาคม 2550 มีผู้เข้าประชุมล้วนเป็นผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ จาก 191 ประเทศ ประมาณ 800 คน โดยไทยเตรียมเสนอให้ยกเลิกบุหรี่ปลอดภาษีในดิวตี้ฟรี และให้ผู้ซื้อแสดงบัตรประชาชน และเพิ่มการพิมพ์สายด่วนเลิกบุหรี่ที่ข้างซอง เพื่อให้คนสูบที่อยากเลิกเข้าถึงคำแนะนำง่ายขึ้น วันนี้ (4 มิถุนายน 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญา ว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ร่วมกับกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการพัฒนาสวัสดิการสังคมฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ(ศจย.) และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความคืบหน้าของการควบคุมยาสูบในประเทศไทย รวมทั้งการเตรียมการจัดประชุมการควบคุมบุหรี่ระดับโลกที่ประเทศไทย นายแพทย์มงคล ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้เลือกประเทศไทย ให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมประเทศภาคสมาชิกใหญ่กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-6 กรกฎาคม 2550 ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ โดยจะมีผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ที่ควบคุมปัญหาการสูบบุหรี่จาก 191 ประเทศ เข้าประชุมประมาณ 800 คน ซึ่งนับว่าการประชุมที่ไทยครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากประเทศไทยได้รับการยกย่องว่ามีความเข้มแข็ง และเป็นผู้นำในการควบคุมยาสูบในระดับผู้นำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบางมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การจัดทำภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ 9 ภาพ และการห้ามโฆษณาบุหรี่ที่จุดขาย ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำระดับโลกซึ่งมีไม่กี่ประเทศที่สามารถทำได้ ซึ่งเป้าหมายในอนาคตไทยจะพยายามทำให้เป็นประเทศไร้ควันบุหรี่ให้ได้ ในที่ประชุมวันนี้ ได้มีการกำหนดท่าที่ของประเทศไทยในการควบคุมบุหรี่ตามกรอบของอนุสัญญาบุหรี่โลกที่จะเสนอในที่ประชุมบุหรี่โลกปลายเดือนนี้ 8 ประเด็น ได้แก่ 1.เสนอให้มีการจัดระบบเก็บภาษีบุหรี่ไปในทางเดียวกัน 2.เสนอให้เก็บภาษีบุหรี่ที่ขายในร้านดิวตี้ฟรี (Duty free) หรือร้านค้าปลอดภาษีที่อยู่ตามแนวชายแดนไทยและท่าอากาศยาน รวมทั้งต้องติดภาพคำเตือนพิษภัยบุหรี่เช่นเดียวกับบุหรี่ทั่วไป 3.ห้ามอุตสาหกรรมบุหรี่โฆษณาทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านพรมแดน รวมทั้งห้ามภาครัฐรับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมบุหรี่ 4.พัฒนาให้มีการจัดการระบบบริการช่วยเหลือผู้สูบบุหรี่ให้สามารถเลิกบุหรี่ได้ โดยที่ประชุมได้เสนอให้จัดพิมพ์สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ที่ข้างซองบุหรี่ เพื่อให้คนที่อยากเลิกสูบบุหรี่ได้รับคำแนะนำ รวมทั้งเสนอให้มีการบรรจุยาอดบุหรี่เข้าในบันชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ติดบุหรี่เลิกได้สำเร็จ 5.สนับสนุนมาตรการควบคุมป้องกันการลักลอบนำเข้าของบุหรี่ และบุหรี่ปลอมโดยเสนอให้ทำลายบุหรี่เถื่อนของกลางที่จับได้แทนการประมูล 6.สนับสนุนมาตรการควบคุมการเข้าถึงบุหรี่ของเยาวชน ซึ่งไทยห้ามขายบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นโดยที่ประชุมเสนอให้ผู้ซื้อแสดงบัตรประชาชน เช่นเดียวกับการซื้อเหล้า 7.สนับสนุนให้ลดพื้นที่การเพาะปลูกยาสูบและส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนของเกษตรกรยาสูบ และ 8.สนับสนุนให้มีมาตรการดำเนินการฟ้องร้องชดเชยค่าเสียหายจากบริษัทบุหรี่ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2534 – 2549 อัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 30.46 ในปี 2534 เป็นร้อยละ 18.94 ในปีพ.ศ. 2549 ซึ่งในขณะเดียวกันอัตราการนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงในช่วง พ.ศ.2546 – 2548 โดยมีส่วนแบ่งการตลาดของบุหรี่นอกถึงร้อยละ 22.3 มีการนำเข้า 401,682,046 ซอง ********************** 4 มิถุนายน 2550


   
   


View 10    04/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ