กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเอกสารแจงข้อเท็จจริง 14 ประเด็น คำถาม คำตอบ เรื่องซีแอล (CL) เวอร์ชั่นภาษาไทย ส่งสื่อทุกสาขาทั่วประเทศ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยขยายผลให้ความรู้ประชาชนไทยในวงกว้าง เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่คนไทยควรรู้เท่าทัน จากการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร (Compulsory Licensing) หรือซีแอลของประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2550 และกระทรวงได้จัดทำสมุดปกขาวแจงให้สาธารณชนทราบถึงความเป็นมาที่ต้องบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา 3 ตัว ได้แก่ ยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ 2 ตัว คือยาเอฟฟาไวแรนซ์ (Effavirenz) ยาคาเลตตร้า (Kaletra) และยาสลายลิ่มเลือด คือ ยาพลาวิกซ์ (Plavix) รวมทั้งข้อกฎหมายต่างๆ จำนวน 5,000 เล่ม ไขข้อสงสัย 10 ประเด็น แล้วเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 แล้วนั้น นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการเดินทางไปชี้แจงการทำ ซีแอลของประเทศไทยแก่สหรัฐอเมริกา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะที่ผ่านมา ยังมีประชาชนบางส่วนทั้งในและต่างประเทศ ไม่เข้าใจถึงมาตรการดังกล่าว ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้รวบรวมความคิดเห็นจากบุคคลต่างๆ ที่คณะของประเทศไทยได้เดินทางไปพบ จัดทำเป็นเอกสารชี้แจงข้อมูลและหลักฐานที่ชัดเจนทั้งหมด 14 ประเด็นในเชิงคำถาม ตำตอบ เบื้องต้นทำเป็นภาษาไทยจำนวน 8 หน้า ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และภาคีเครือข่ายสุขภาพ รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อเผยแพร่ประชาชนไทยในวงกว้างเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากเป็นความรู้ใหม่ให้คนไทยรู้สิทธิและเท่าทันต่างประเทศ สำหรับสาระสำคัญของเอกสาร 14 ประเด็น ได้แก่ 1.การใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร หรือ CL (Compulsory Licensing) คืออะไร 2.กระทรวงสาธารณสุขประกาศการใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร กับยา 3 ชนิดมีอะไรบ้าง 3.กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศการใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร เพิ่มเติมอีกหรือไม่ 4.กระทรวงสาธารณสุขประกาศการใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร ทำถูกกฎหมายหรือไม่ และมีเหตุผลอย่างไร 5.ทำไมกระทรวงสาธารณสุขจึงไม่เจรจากับบริษัทยา ก่อนที่จะประกาศใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร 6.กระทรวงสาธารณสุขมีกลไก กระบวนการ หลักเกณฑ์อะไร ในการพิจารณาว่ายาที่มีสิทธิบัตรตัวไหนจะประกาศการใช้สิทธิโดยรัฐ 7.การประกาศการใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร ประชาชนได้ประโยชน์อะไร 8.ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ทำซีแอลใช่หรือไม่ 9.การใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร มีผลกระทบต่อบริษัทยาและตลาดยาทั่วโลกอย่างไรบ้าง 10.ที่มีข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขดำเนินการไป โดยไม่มีการปรึกษากับกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น 11.การดำเนินการประกาศใช้สิทธิโดยรัฐดังกล่าว ทำให้บริษัทยาไม่ลงทุนวิจัยพัฒนายาในไทย จริงหรือไม่ 12.ยาที่ผลิตหรือนำเข้าจากประเทศอื่น เช่น อินเดีย ที่มีราคาต่ำกว่ายาต้นแบบ จะมั่นใจได้อย่างไรว่ามีคุณภาพเท่าเทียมกับยาต้นแบบ 13.ประโยชน์ของประเทศไทยในการร่วมลงนามกับมูลนิธิคลินตัน และ 14.ผลการเจรจาระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยจะจัดทำเป็นภาษาอังกฤษในเร็วๆ นี้ด้วย สำหรับประชาชนที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลด 14 คำถามซีแอลในประเทศไทย ได้ที่ www.moph.go.th ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป นายแพทย์สุพรรณ กล่าวในตอนท้าย มิถุนายน *********************************** 6 มิถุนายน 2550


   
   


View 5    06/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ