สาธารณสุข เผยสถานการณ์ไข้เลือดออกรอบ 5 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วกว่า 11,000 ราย ตาย 14 ราย เชื้อต้นเหตุปีนี้กว่าร้อยละ 60 เป็นสายพันธุ์ที่ 1 ไม่ใช่สายพันธุ์รุนแรง แต่หากติดเชื้อซ้ำจากสายพันธุ์อื่น จะรุนแรงขึ้น ชี้ชุมชนเมืองแออัดโอกาสเสี่ยงสูง เตือนเด็ก หญิงตั้งครรภ์ระวัง สั่งการทุกจังหวัดเข้มรณรงค์ช่วงระบาดหนัก มิถุนายน – กรกฎาคม เร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตัดตอนยุงตัวแก่ ลดตัวการแพร่โรค บ่ายวันนี้ (7 มิถุนายน 2550) นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.กาญจนา กาญจนสินิทธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะ ติดตามการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ร่วมกับเทศบาลนครนนทบุรี ที่ชุมชนสุเหร่าใน ซึ่งเป็นชุมชนแออัด สภาพแวดล้อมเฉอะแฉะ และที่หมู่บ้านท่าทรายวิลเลจ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี โดยเยี่ยมบ้าน แจกเอกสารเผยแพร่ความรู้โรคไข้เลือดออก ทรายกำจัดลูกน้ำ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และพ่นหมอกควันในบริเวณบ้านเรือน นายแพทย์มรกต กล่าวว่า แม้ว่าจังหวัดนนทบุรีจะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกในรอบ 5 เดือนเพียง 252 ราย พบที่ อ.เมืองมากที่สุด 156 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตก็ตาม แต่ประมาทไม่ได้ เนื่องจากนนทบุรีมีลักษณะเป็นชุมชนเมือง มีประชากรหนาแน่น มีหมู่บ้านจัดสรรและชุมชนแออัด ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดการระบาดของโรคได้ง่าย ประชาชนมีการเดินทางเข้า-ออกในพื้นที่มาเรียน ทำงานอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสนำเชื้อไข้เลือดออกจากพื้นที่อื่นซึ่งเป็นคนละชนิดกับในพื้นที่มาแพร่ อาจเกิดการระบาดในพื้นที่ได้ จึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนร่วมมือกันป้องกันโรคไข้เลือดออก ให้ทุกบ้านกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านตัวเอง นายแพทย์มรกต กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ของสำนักระบาดวิทยา มีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ป่วยในปีนี้จะเพิ่มขึ้นกว่าปีแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-2 มิถุนายน 2550 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 11,574 ราย เสียชีวิต 14 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1,195 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2549 ร้อยละ 18 ตลอดเดือนพฤษภาคม 2550 พบผู้ป่วย 3,649 ราย ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 5 เดือนของปีนี้ จำนวนผู้ป่วยมากที่สุดที่ภาคกลาง 4,522 ราย เสียชีวิต 7 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือป่วย 3,050 ราย เสียชีวิต 1 ราย ภาคใต้ป่วย 2,893 รายเสียชีวิต 6 ราย ภาคเหนือป่วย 1,109 ราย ไม่มีเสียชีวิต ส่วนกทม.มีรายงานป่วยทั้งหมด 1,680 ราย เสียชีวิต 1 ราย เขตที่พบผู้ป่วยสูงสุดได้แก่ บางซื่อ 74 ราย ทั้งนี้ พบผู้ป่วยทุกวัย กลุ่มใหญ่ที่สุดคือกลุ่มอายุ 10-24 ปี พบได้ร้อยละ 60 และยังพบในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ป่วยแล้ว 55 ราย อายุ 55 ปีขึ้นไปป่วย 97 ราย จึงกล่าวได้ว่าทุกคนเสี่ยงโรคไข้เลือดออกเหมือนกัน แต่กลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ เด็กและผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย นายแพทย์มรกต กล่าวต่อว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปี จะเป็นช่วงที่โรคระบาดสูงสุด เนื่องจากฝนตกชุก มีแหล่งน้ำขังจำนวนมาก ได้กำชับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด รณรงค์ให้ประชาชนทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งในบ้านและรอบๆ บ้านทุกสัปดาห์ โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 ป. คือ ปิด เปลี่ยน ปล่อย โดยปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำในบ้าน เปลี่ยนน้ำแจกันดอกไม้ จานรองขาตู้ทุก 7 วัน ปล่อยปลาหางนกยูงในอ่างบัว อ่างไม้น้ำหรือภาชนะเก็บกักน้ำที่ไม่มีฝาปิด โดยเฉพาะในโรงเรียนและสถานบริการสาธารณสุข จะต้องปลอดลูกน้ำยุงลาย เพราะยุงลายตัวเมีย 1 ตัว จะมีชีวิต 30 - 45 วัน วางไข่ได้ประมาณ 400 ฟอง ประเด็นสำคัญที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด โดยนอนในมุ้ง การนอนคลุมโปงไม่สามารถป้องกันยุงกัดได้ หากคนในบ้านไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ มีไข้สูง กินยาพาราเซตามอลและใช้น้ำเย็นเช็ดตัวช่วยลดไข้แล้ว ไข้ยังไม่ลดใน 2-3 วัน ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจป่วยเป็นไข้เลือดออก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะโรคนี้กว่าร้อยละ 99 รักษาหาย แต่ต้องพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ นายแพทย์มรกต ยังกล่าวถึงการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในหมู่บ้านชาวเขาเผ่าอาข่า ที่บ้านซาเจ๊ะ ต.แม่ไร่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ว่า ขณะนี้สามารถควบคุมโรคได้แล้ว ผู้ป่วยลดลงจากวันละ 50 ราย เหลือเพียง 20 กว่าราย หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้คัดกรองผู้ป่วยในหมู่บ้านทั้งสิ้น 1,170 ราย พบมีอาการน่าสงสัย 354 ราย โดยมีอาการเล็กน้อย ให้การรักษาที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 121 ราย ส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลแม่จัน 269 ราย ในจำนวนนี้ผลการตรวจเลือดพบยืนยันเป็นเชื้อไข้เลือดออก 233 ราย โดยมีอาการหนัก 22 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ในวันนี้ จะรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านทุกหลัง โดยเปลี่ยนน้ำในภาชนะเก็บน้ำ ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ ใช้ตาข่ายขนาดเล็กปิดปากถังกักเก็บน้ำป้องกันยุงลายวางไข่ และวันที่ 10 มิถุนายน 2550 จะจัดอบรมให้ความรู้การป้องกันโรค ให้ชาวเขาทุกบ้านดูแลกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ เมื่อติดเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสชนิดนั้นอย่างถาวร แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสอีก 3 ชนิดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 6-12 เดือน จากการการวิเคราะห์เชื้อไวรัสของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข พบว่า สายพันธุ์ที่ระบาดในปีนี้เป็นสายพันธุ์ที่ 1 พบร้อยละ 63 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง รองลงมาเป็นสายพันธุ์ที่ 4 ร้อยละ 18 สายพันธุ์ที่ 2 ร้อยละ 10 และสายพันธุ์ที่ 3 ร้อยละ 9 สายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุดคือสายพันธุ์ที่ 2 ในขณะที่เชื้อไข้เลือดออกที่ระบาดในปี 2548 และ 2549 ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ 4 ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงมีภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว มากกว่าสายพันธุ์ที่ 1 จากการศึกษาของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ และสถาบันวิจัยแพทย์ทหาร พบว่า ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 90 เป็นการติดเชื้อซ้ำ โดยมักติดเชื้อครั้งแรกตั้งแต่อายุต่ำกว่า 1 ปี ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ที่มีไวรัสชุกชุมหลายชนิด และมีประชากรหนาแน่น แออัด โดยเฉพาะชุมชนเมือง มีโอกาสเกิดการติดเชื้อซ้ำได้บ่อย และหากติดเชื้อซ้ำด้วยไวรัสสายพันธุ์ 2 หลังจากติดเชื้อครั้งแรกด้วยสายพันธุ์ที่ 1 จะมีความเสี่ยงสูงเป็นไข้เลือดออกรุนแรง อาจช็อค และเสียชีวิตได้ภายใน 12–24 ชั่วโมง นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว ********************************** 7 มิถุนายน 2550


   
   


View 7       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ