กระทรวงสาธารณสุข เผยหญิงไทยเป็นมะเร็งเต้านมปีละเกือบ 6,000 ราย รองจากมะเร็งปากมดลูก ชี้ผู้หญิงทุกคนเสี่ยงมะเร็งชนิดนี้ แนะการป้องกัน ให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง ตั้งเป้าเพิ่มจากร้อยละ 22 ให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 โดยขยายศูนย์ตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมอีก 1 แห่งที่ รพ.อำนาจเจริญ วันนี้ (8 มิถุนายน 2550) ที่ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดอบรม อสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จำนวน 1,300 คน ในโครงการต้านภัยมะเร็งเต้านม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง และนำความรู้ไปถ่ายทอดขยายผลให้ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถตรวจเต้านมด้วยตนเองได้ จากนั้นเดินทางไปเปิดศูนย์ตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านม ที่โรงพยาบาลอำนาจเจริญ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม ตั้งแต่ระยะที่เซลล์ยังไม่ลุกลาม ซึ่งส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพ มีโอกาสหายขาด ลดการเสียชีวิตของผู้หญิงจากโรคดังกล่าวได้ นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า ขณะนี้โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยติดต่อกัน 8 ปี ตั้งแต่ปี 2542 ปีละกว่า 50,000 ราย โรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้ชายได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอดและลำไส้ ส่วนผู้หญิงพบมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด รองลงมาคือมะเร็งเต้านม ในปี 2547 มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ประมาณ 18,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นหญิง พบในผู้ชายน้อยมากปีละประมาณ 10 ราย โดยตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่ 5,592 ราย จังหวัดที่พบมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ ลพบุรี สมุทรสาคร ลำปาง เสียชีวิตปีละประมาณ 2,000 ราย นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของมะเร็งเต้านม ได้แก่ การมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุยังน้อย การหมดประจำเดือนช้า ไม่มีลูกหรือมีลูกคนแรกเมื่ออายุเกิน 30 ปี มีประวัติครอบครัวมีเนื้อเยื่อเต้านมที่ผิดปกติ การรับประทานอาหารไขมันมาก การดื่มเหล้า ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้พบได้ร้อยละ 25 ของผู้ป่วย ขณะที่ผู้ป่วยอีก 3 ใน 4 ไม่พบมีปัจจัยเสี่ยง จึงกล่าวได้ว่าผู้หญิงทุกคนล้วนเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้ การเฝ้าระวังโรคดังกล่าว สามารถใช้มือคลำตรวจหาก้อนเนื้อด้วยตนเองได้ โดยคลำหลังจากประจำเดือนหมดไปแล้วประมาณ 3 วัน เป็นวิธีที่ง่าย ประหยัด และควรทำในหญิงทุกวัย หากมีการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ จะสามารถตรวจพบก้อนได้ตั้งแต่ยังมีขนาดไม่โตมากนัก ซึ่งการรักษาจะได้ผลดี มีโอกาสหายขาด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จากการสำรวจอัตราการตรวจมะเร็งเต้านมของผู้หญิงทั่วประเทศอายุ 15-44 ปี ล่าสุดในปี 2549 พบมีเพียงร้อยละ 22 เท่านั้น ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายให้ทุกจังหวัดรณรงค์ให้ผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน ตั้งเป้าหมายให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 เพื่อให้การวินิจฉัยได้ในระยะแรกและการรักษาหายขาดสูง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการรักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงจากโรคมะเร็งเต้านม ด้านนายแพทย์พิสิฐ กิระนันทวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำนาจเจริญ กล่าวว่า จังหวัดอำนาจเจริญ พบอัตราป่วยมะเร็งเต้านมในหญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป แสนละ 21 คน และมีอัตราตายแสนละ 2 คน การเฝ้าระวังโรคมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดคือการค้นพบให้เร็วที่สุด โดย1.การตรวจเต้านมด้วยตนเอง แนะนำให้เริ่มตรวจเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป โดยตรวจเป็นประจำทุกเดือน 2.การตรวจเต้านมโดยแพทย์ แนะนำผู้ที่อายุ 20-40 ปีควรตรวจทุก 3 ปี หากอายุมากกว่า 40 ปี ควรตรวจทุกปี และ 3.การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) ในรายที่สงสัยหรือคลำก้อนไม่ชัดเจน และรายที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยโรคมะเร็งเต้านม ควรตรวจทุก 1-2 ปี นายแพทย์พิสิฐกล่าวต่อว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมักจะมาพบแพทย์จากการคลำพบก้อนได้ที่เต้านม ตำแหน่งที่พบบ่อยมากที่สุดคือ เต้านมส่วนบน พบประมาณร้อยละ 40 ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 95 เป็นข้างเดียว อาการที่พบ เช่น ปวดเต้านม มีน้ำสีเหลืองปนเลือดออกทางหัวนม มีก้อนที่รักแร้ ผิวหนังของเต้านมบวมแดง และรู้สึกเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นต้น โดยประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มาพบแพทย์เมื่อมีการแพร่กระจายของโรคสู่อวัยวะอื่นๆ แล้ว ดังนั้นการตรวจเต้านมด้วยตนเองจึงมีความสำคัญอันดับหนึ่ง แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของผู้หญิงคือมักไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องนี้เท่าที่ควร จากผลสำรวจในจังหวัดอำนาจเจริญ พบว่ามีผู้หญิงให้ความใส่ใจและตรวจเต้านมทุกเดือนไม่ถึงร้อยละ 15 จึงต้องรณรงค์ให้ผู้หญิงหันมาใส่ใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น สำหรับศูนย์ตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลอำนาจเจริญ จะมีเครื่องเอกซเรย์แมมโมแกรมและเครื่องอัลตร้าซาวด์ มูลค่า 7 ล้านบาท ควบคุมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยหลังจากที่ประชาชนคลำพบก้อนที่เต้านมและสงสัยเป็นมะเร็ง จะส่งไปที่ศูนย์ตรวจวินิจฉัยขั้นยืนยัน หากพบว่าเป็นมะเร็ง จะให้การผ่าตัดรักษาที่โรงพยาบาลได้เลย ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการใกล้บ้าน สะดวกขึ้น อย่างไรก็ดี ขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อและเสียเวลาไปกับการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์และยากลางบ้าน เพราะไม่ได้ทำให้มะเร็งหายขาด มิหนำซ้ำจะทำให้ก้อนมะเร็งนั้นโตขึ้นเรื่อยๆ และลุกลามไปอวัยวะอื่น เกินที่จะรักษาหายขาดได้ นายแพทย์พิสิฐกล่าว ************************************ 8 มิถุนายน 2550


   
   


View 6    08/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ