รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจสุขภาพคนไทยอายุ 15 ขึ้นไปทั่วประเทศ ครั้งใหญ่ล่าสุด พบว่าโรคอ้วนพุงพลุ้ย อยู่ในขั้นกำลังระบาดทั้งในเขตเมืองและชนบท พบได้ทุก 1 ใน 4 คน โดยพบชาย-หญิงกทม. อ้วนมากอันดับ 1 ชี้ต้นเหตุหลักมาจากเลือกกินของอร่อยมากกว่าคุณภาพ ทำให้จำนวนคนป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง–เบาหวานพุ่งกระฉูด 20 ล้านคน เร่งสร้างค่านิยม 3 อ. พิชิตไขมัน อย่าทำตัวเป็นเทศบาล วันนี้ (8 มิถุนายน 2550) ที่มัสยิดยูสรอสามัคคี ตำบลชะไว อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการ “คนยุคใหม่ ไร้พุง” เพื่อรณรงค์ให้คน ในชุมชนตระหนักถึงอันตรายของปัญหา “อ้วนลงพุง” และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตประจำวัน ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง หรือหากเกิดขึ้นแล้วสามารถลดหรือขจัดให้หมดไปได้ ภายในงานมีการตรวจวัดรอบเอวประชาชนประมาณ 500 คน ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจหาน้ำตาลในเลือด จัดเมนูอาหารที่ไม่ทำให้อ้วน การสาธิตการออกกำลังกายเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ไม่ให้ไขมันสะสมในร่างกาย นายแพทย์มรกตกล่าวว่า ขณะนี้โรคอ้วนกำลังระบาดในประเทศไทย ความอ้วนเป็นสัญญาณอันตรายที่ น่ากลัวมาก เพราะเป็นบ่อเกิดของโรคภัยตามมาไม่ต่ำกว่า 9 โรค อาจทำให้เป้าหมายคนไทยอายุยืน 80 ปี ใน พ.ศ.2553 ไม่ประสบผลสำเร็จ ที่กำลังเป็นปัญหาทางการแพทย์ขณะนี้ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ จากผลการสำรวจสุขภาพคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ครั้งใหญ่ล่าสุดใน พ.ศ. 2547 พบคนไทยทั้งในเขตเมืองและชนบท มีปัญหาน้ำหนักเกินพิกัด เฉลี่ยร้อยละ 28 โดยพบในกทม.มากที่สุดในประเทศ ในผู้ชายร้อยละ 23 ผู้หญิงร้อยละ 34 โดยมีผู้ที่อ้วนพุงพลุ้ยเฉลี่ยร้อยละ 26 พบในหญิงมากกว่าชาย 2 เท่าตัว ส่วนความผิดปกติทางด้านโรคภัย ตรวจพบเป็นความดันโลหิตสูง 10 ล้านคน แต่ควบคุมอาการได้เพียง 9 หมื่นคน พบโรคเบาหวานที่มีอาการแล้ว 3 ล้านคน แต่รักษาควบคุมอาการได้เพียง 4 แสนคน และมีอีกประมาณ 10 ล้านคน ที่ยังไม่มีอาการป่วย แต่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติแล้ว “สาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยสมัยนี้น้ำหนักเกิน มาจากการขาดการออกกำลังกาย และจากนิสัยความคุ้นเคยในการกิน จากการสำรวจล่าสุดพบว่า ร้อยละ 60 จะเลือกกินอาหารโดยคำนึงถึงความอร่อยอย่างเดียว อีกร้อยละ 20 คำนึงถึงความอร่อยและคุณภาพ มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ที่คำนึงถึงคุณภาพอาหารเป็นหลัก มีการบริโภคน้ำตาลเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยเพิ่มจากคนละ 12 กิโลกรัมต่อปีในปี 2526 เป็น 30 กิโลกรัมต่อปี ในปี 2546” นายแพทย์มรกตกล่าว นายแพทย์มรกตกล่าวต่อว่า การอ้วนแบบลงพุงหรือที่เรียกกันว่าพุงพลุ้ย จากไขมันพอกในช่องท้อง จะมีอันตรายมาก การเพิ่มขึ้นของรอบเอวทุกๆ 5 เซนติเมตร จะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานเพิ่ม 3-5 เท่า เพราะไขมันที่สะสมไว้ที่พุง จะแตกตัวเป็นกรดไขมันเข้าสู่ตับ ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ในการสลายน้ำตาลในเลือดไม่ดี ทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุปัญหาจากความอ้วนว่าทำให้สูญเสียเศรษฐกิจ 2–6 เปอร์เซนต์ของงบด้านสุขภาพ เทียบในไทยได้ประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญภัยอ้วนอย่างรุนแรง สูญเงินปีละ 4 ล้านล้านบาท จึงต้องเร่งแก้ไขเป็นการด่วน โดยจะลดให้ได้ร้อยละ 50 ของคนที่มีปัญหาในขณะนี้ นายแพทย์มรกต กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการคนไทยไร้พุง ให้ทุกจังหวัดรณรงค์ให้คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ลดน้ำหนักและลดรอบพุงอย่างปลอดภัย โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 อ. ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ โดย อ.ที่ 1 คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ให้รับประทานแต่พออิ่ม อย่าเสียดายอาหารที่เหลือ หรือที่เรียกว่าทำตัวเป็นเทศบาล ลดอาหารรสหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม ชา กาแฟ เหล้าเบียร์ และของมัน และบริโภคผลไม้อย่างสม่ำเสมอ ทำควบคู่กับ อ.ที่ 2 คือ การออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละครึ่งถึง 1 ชั่วโมง อาทิตย์ละอย่างน้อย 5 วัน เพื่อขจัดไขมันส่วนเกิน และอ.ที่ 3 คืออารมณ์ ต้องสกัดกั้นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดความหิว เช่น หลีกเลี่ยงการไปจุดที่มีอาหารหลากหลาย อย่าเครียด เพราะหากเครียดจะทำให้กินอาหารมากขึ้น ทั้งนี้การลดน้ำหนักที่เหมาะสม ควรลดลงอาทิตย์ละครึ่งถึง 1 กิโลกรัม โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติแต่ยังไม่เป็นโรค หากคุมน้ำหนัก ปรับนิสัยการกิน จะลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ร้อยละ 60 ทางด้านนายแพทย์ถวัลย์ พบลาภ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในจังหวัดอ่างทอง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ร้อยละ 86 นิยมบริโภคอาหารเค็ม หวาน มัน และร้อยละ 71 มีค่าดัชนีมวลกาย มากกว่า 23 นอกจากนี้ยังพบว่า มีอัตราป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดและโรคความดันโลหิตสูง ในปี 2549 เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ถึง 2 เท่าตัว โดยโรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มจาก 410 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2546 เป็น 802 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2549 ส่วนโรคความดันโลหิตสูง เพิ่มจาก 2,894 ต่อประชากรแสนคน ปี 2546 เป็น 4,542 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2549 *************************************************** 8 มิถุนายน 2550


   
   


View 6    08/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ