รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ปัญหาสุขภาพจิต หลังพบคนไทยมีปัญหาทางสุขภาพจิตกว่า 2 ล้านคน เน้นการฟื้นฟูสมรรถภาพต่อเนื่อง สั่งกรมสุขภาพจิตสำรวจปัญหาสุขภาพจิตระดับประเทศ เพื่อแก้ปัญหาได้ทัน ส่วน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ส่งนักจิตวิทยาประจำโรงพยาบาลชุมชนแห่งละ 2 คน พร้อมเสริมทัพด้วย อสม. ดูแลใกล้ชิด เช้าวันนี้ (11 มิถุนายน 2550) นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโรงพยาบาลศรีธัญญา นนทบุรี และเป็นประธานเปิดโครงการพืชไร้ดินปลอดภัยจากสารพิษ หรือไฮโดรโปนิค (Hydroponic) เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยคืนชีวิตผู้ป่วยจิตเวชหญิงให้กลับสู่ครอบครัวได้สำเร็จอย่างเต็มภาคภูมิ นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาการป่วยทางสุขภาพจิตนับวันมีมากขึ้น อันเป็นกระทบมาจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจและปัญหายาเสพติด ทั่วประเทศมีผู้ป่วยเข้ารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกเกือบ 2 ล้านคน และมีอาการรุนแรงต้องนอนรักษาปีละกว่า 1 แสนคน ในการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยทางจิตเวช มีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของผู้ป่วย ทั้งด้านสังคม การรับรู้ พฤติกรรมและความคิดในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งการประกอบอาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยตนเอง และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เหมือนคนปกติทั่วไป ซึ่งการฟื้นฟูโดยใช้วิถีทางเกษตรกรรมนั้น เป็นวิถีชีวิตของคนไทยอยู่แล้ว จึงสามารถเข้าใจได้ง่าย อีกทั้งการทำเกษตรอินทรีย์ หรือการปลูกพืชไร้ดิน เพื่อให้พืชผักที่ได้ปลอดสารพิษ ช่วยลดผลกระทบด้านสุขภาพของคนจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในดินด้วย นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อว่า การจัดบริการด้านสุขภาพจิต ขณะนี้ถือว่ามีความครอบคลุมพอสมควร ทั้งด้านสถานบริการและบุคลากร โดยในส่วนของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป จะมีจิตแพทย์ประจำทุกแห่ง สำหรับโรงพยาบาลชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ส่งผลกระทบด้านจิตใจประชาชนค่อนข้างมาก มีนโยบายจัดนักจิตวิทยาประจำให้ครบทุกแห่ง อย่างน้อยแห่งละ 2 คน ขณะเดียวกันก็จะมีการอบรมเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการคัดกรองด้านสุขภาพจิต ให้กับ อสม. เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการดูแลจิตใจคนในพื้นที่ให้ทั่วถึงที่สุด และได้สั่งการให้กรมสุขภาพจิต สำรวจปัญหาทางสุขภาพจิตของคนไทยทั่วประเทศเป็นระยะ เหมือนกับการสำรวจปัญหาสุขภาพกาย เพื่อจะได้ทราบขนาดปัญหาที่แท้จริง และเตรียมการรองรับได้อย่างเหมาะสม ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า โรงพยาบาลมีผู้ป่วยนอกรับการรักษาวันละ 511 คน ผู้ป่วยใน 977 คน สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยจิตเวชที่ผ่านการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพแล้วต้องการ ไม่ใช่ความสงสาร แต่เป็นการให้โอกาส ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้สังคมให้การยอมรับผู้ป่วยมากขึ้น มีการว่าจ้างให้ไปทำงานในสถานประกอบการต่างๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมาร่วมดูแลผู้ป่วย จะยิ่งทำให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น และขอให้ความมั่นใจว่าผู้ป่วยเหล่านี้ ไม่เป็นอันตรายกับชุมชนและสังคมแต่อย่างใด ******************************** 11 มิถุนายน 2550


   
   


View 5    11/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ