รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยพบประชาชนเครียด มีอาการซึมเศร้าจากน้ำท่วมน้ำท่วมขณะนี้ ร้อยละ 2 สั่งกรมสุขภาพจิตและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดตามเฝ้าระวังผลกระทบด้านจิตใจประชาชนในพื้นที่ประสบภัยทุกแห่งหลังน้ำลดและต่อเนื่อง 3 เดือน เน้นเป็นกรณีพิเศษ 8 อำเภอใน 2 จังหวัดคือ จ.ปราจีนบุรีและ                      จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากสถานการณ์ปีนี้รุนแรงกว่าอดีต         
 
          วันนี้(26 ต.ค.56) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์วิศิษฏ์ ตั้งนภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเครือข่ายบริการที่ 6 นายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมและอสม.ที่จ.ฉะเชิงเทรา ในช่วงเช้าที่บ้านคลองหกวา หมู่ 13 ต.ดอนเกาะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว มอบยาสามัญประจำบ้าน ถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัยและอสม.จำนวน 200 ชุด และลงเรือเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน เช่นผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคลมชัก พร้อมหน่วยแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพให้การรักษาต่อเนื่อง และช่วงบ่ายเดินทางไปที่วัดสามแยก ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า มอบยาและถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัย 300 ชุด ทั้ง 2 พื้นที่ยังมีน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 1 เมตร  
 
          นายสรวงศ์ กล่าวว่า จากการประเมินผลการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพกายของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกระทรวงสาธารณสุขทุกพื้นที่ จัดว่าอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ พบผู้เจ็บป่วย 160,000 กว่าราย อาการไม่รุนแรง เช่น   น้ำกัดเท้า ผื่นคัน ไข้หวัด และไม่พบปัญหาโรคระบาด แต่เรื่องที่เป็นห่วงคือผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชน ซึ่งจะปรากฏให้เห็นหลังจากน้ำท่วมแล้วประมาณ 2 สัปดาห์เป็นต้นไป เป็นช่วงที่จะต้องติดตามให้การดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พื้นที่ที่น้ำท่วมมากแต่น้ำลดลงเร็ว ประชาชนจะปรับตัวได้ดีกว่าพื้นที่ที่น้ำท่วมขังนาน เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ข้างหน้าได้ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งทุกหน่วยงานคลี่คลายปัญหาให้ได้เร็วที่สุด  
 
                สำหรับมาตรการคลี่คลายความเครียดประชาชน กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง จัดหน่วยแพทย์และทีมสุขภาพจิตออกให้บริการตรวจรักษาและฟื้นฟูสุขภาพจิต               เฝ้าระวังผลกระทบด้านจิตใจอย่างต่อเนื่องทุกพื้นที่หลังน้ำลด และทำต่อเนื่องเป็นเวลา 3-6 เดือน โดยเน้นเป็นพิเศษใน 8 อำเภอ 2 จังหวัดคือปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา เนื่องจากน้ำท่วมปีนี้รุนแรงกว่าอดีต ที่ปราจีนบุรีเน้นที่               5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมโหสถ อ.บ้านสร้าง และอ.ประจันตคาม ส่วนที่จ.ฉะเชิงเทราเน้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ราชสาส์น อ.บางคล้า และอ.บางน้ำเปรี้ยว โดยได้ส่งทีมสุขภาพจิต 5 ทีม จากรพ.ศรีธัญญา                   รพ.จิตเวชสระแก้ว สถาบันจิตเวชสมเด็จเจ้าพระยา สถาบันกัลยาราชนครินทร์ รพ.ราชานุกูล มาร่วมบริการกับพื้นที่ด้วย ผลการจนถึงวันนี้รวม 39 วัน ตรวจพบผู้ที่มีปัญหาเครียดระดับสูง นอนไม่หลับ มีอาการซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย รวม 326 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 จากจำนวนผู้ที่ตรวจประเมินทั้งหมด 18,492 ราย จากพื้นที่ประสบภัยกว่า 30 จังหวัด ที่ จ.ฉะเชิงเทราพบผู้มีความเครียดสูง 7 ราย ซึมเศร้า 2 ราย ต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 6 ราย
 
          นายสรวงศ์กล่าวต่ออีกว่า ในการช่วยกันบรรเทาความเครียด ขอให้ประชาชนค่อยๆปรับจิตใจยอมรับความสูญเสียและวางแผนแก้ไขปัญหาทีละเรื่อง และปรึกษาพูดคุยปรับทุกข์และหาแนวทางแก้ไขร่วมกันระหว่างสมาชิก               ในครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน ให้ช่วยกันดูแลให้กำลังใจและสังเกตุอาการผิดปกติของคนใกล้ชิด หากพบว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนจากเดิม เช่นเคยร่าเริง หัวเราะง่าย กลับมาเป็นเก็บตัว เงียบขรึม   อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ขอให้แจ้งอสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
 
******************************26 ตุลาคม 2556       
 


   
   


View 9    26/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ