กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันพระบรมราชชนก เรียกประชุมใหญ่ผู้บริหารและคณาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมรองรับการจัดการเรียนการสอน นักศึกษาพยาบาลจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ 3,000 คน ลดช่องว่างความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม ก่อนเปิดการศึกษา 2 กรกฎาคม 2550 นี้ บ่ายวันนี้ (12 มิถุนายน 2550) ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ นายแพทย์กิตติศักดิ์ กลับดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหาร ผู้แทนคณาจารย์และนักศึกษาพยาบาลที่กำลังศึกษาในวิทยาลัยพยาบาลสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก 29 แห่งทั่วประเทศ รวม 300 คน เพื่อเตรียมความพร้อมรับนักศึกษาพยาบาล จากโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย จำนวน 3,000 คน ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 95 เป็นไทยมุสลิม มีความแตกต่างทั้งด้านภาษา วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ โดยมีกำหนดจะเปิดเรียนในวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 โดยนายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการ ศอ.บต. ได้ร่วมอภิปรายเรื่อง สิ่งที่คิดและหวังในโครงการผลิตพยาบาลเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2550-2553 ด้วย นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวว่า โครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคัดเลือกเฉพาะเด็กที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้เข้าเรียน ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์ ตรวจความพร้อมร่างกาย และจะให้นักเรียนเลือกสถานที่เรียนในวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกทั่วประเทศ 29 แห่ง ซึ่งอยู่ในภาคกลาง 8 แห่ง ภาคเหนือ 8 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 แห่ง ภาคตะวันออก 2 แห่ง และภาคใต้ 5 แห่ง ในวันที่ 19 มิถุนายน 2550 โควตาแห่งละ 100 คน มีกำหนดเปิดเรียนพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 นี้ และจะสำเร็จการศึกษาในปี 2554 ใช้งบผลิตทั้งหมด 1,200 กว่าล้านบาท ซึ่งการผลิตพยาบาลดังกล่าวนับว่าเป็นกรณีพิเศษ การจัดการเรียนการสอน ตลอดจนหอพัก วิทยาลัยพยาบาลแต่ละแห่งจะให้เรียนร่วมกับนักเรียนพยาบาลที่ผลิตภาคปกติ 2,500 คน เพื่อเสริมสร้างทัศนคติการอยู่ร่วมกันและลดช่องว่างระหว่างกัน เฉลี่ยแล้วจะมีนักศึกษาแต่ละแห่งประมาณ 180 คน ด้านทพ.ญ.ทิพาพร สุโฆสิต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวว่า จากการประเมินในภาพรวมของประเทศ ยังขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพอีกประมาณ 30,000 คน ขณะที่วิทยาลัยพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถผลิตพยาบาลวิชาชีพได้ปีละ 2,500 คน ในส่วนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการสำรวจโดยใช้หลักการกระจายพยาบาลตามประชากรคือ 1 ต่อ 500 คน ร่วมกับความต้องการเพิ่มจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และนโยบายให้มีพยาบาลวิชาชีพประจำสถานีอนามัย จะต้องมีพยาบาลวิชาชีพทั้งหมด 5,866 คน แต่ขณะนี้มีเพียง 2,807 คน ยังขาดอีก 3,059 คน ซึ่งโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มฯ นี้ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพแล้ว ยังเป็นการสร้างอนาคตทางการศึกษาและยกคุณภาพชีวิตของเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วย ดังนั้น แม้จะต้องมีภาระงานในการจัดการเรียนการสอนเพิ่มขึ้นจากปกติกว่าเท่าตัว แต่คณาจารย์และบุคลากรทุกคน พร้อมที่จะทุ่มเทแรงกายแรงใจ ในการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุวัตถุประสงค์สำคัญคือ ได้พยาบาลวิชาชีพที่มีคุณภาพกลับไปทำงานในภูมิลำเนา เพื่อให้พี่น้องประชาชนในชายแดนภาคใต้ ได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ*** ****************12 มิถุนายน 2550


   
   


View 5    12/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ