กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนไทยอย่าวิตกเชื้อวัณโรค เอ็กซ์ ดี อาร์ ซึ่งเป็นเชื้อดื้อยารุนแรง ยังไม่พบในคนไทย พบเพียงคนต่างด้าวในศูนย์อพยพ 2 รายที่ อ. แม่สอด จ. ตาก ได้กักตัวรักษาแล้ว ส่วนที่ข้อมูลรายงานการตรวจพบเชื้อวัณโรคดื้อยา เอ็กซ์ ดี อาร์ 13 รายตั้งแต่ปี 2544 ของนพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ จะประสานขอเชื้อตรวจยืนยัน ติดตามผู้ป่วย และรายงานองค์การอนามัยโลก ชี้ปัญหานี้ป้องกันได้ โดยต้องกินยาทุกวันจนครบ 6 เดือนก็จะหายขาด ไม่มีปัญหาเชื้อดื้อยาแน่นอน จากกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวการพบผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคชนิดดื้อยารุนแรง หรือเรียกว่า เอ็กซ์ ดี อาร์ (XDR : Extremely Drug Resistance) โดยกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดนในแถบอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และในไทยมีรายงานจากนายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ว่าตรวจพบเชื้อวัณโรคดื้อยา เอ็กซ์ ดี อาร์ ตั้งแต่ ปี 2544 จำนวน 13 ราย ตามที่เป็นข่าว นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า เชื้อดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากปัญหาการกินยารักษาวัณโรคไม่ต่อเนื่องครบ 6 เดือนจนหายขาดตามมาตรฐานที่กำหนด จึงทำให้เชื้อดื้อยาทำให้การรักษาไม่ได้ผล โดยการดื้อยามี 3 ลักษณะ คือ 1. ดื้อยารักษาวัณโรคพื้นฐานที่มีชื่อว่า ไอ เอ็น เอช (INH : Isoniazid) พบได้ร้อยละ 15 2. ดื้อยาหลายขนาน เรียกว่า เอ็ม ดี อาร์ (MDR : Multi Drugs Resistance) พบได้เกือบร้อยละ 1 และ 3. ดื้อยาชนิดรุนแรงที่สุด เอ็กซ์ ดี อาร์ เป็นเชื้อที่ไม่สามารถใช้ยารักษาวัณโรคที่มีในปัจจุบันนี้รักษาได้ ซึ่งยังไม่มีรายงานพบในคนไทย แต่พบในชาวกระเหรี่ยงอพยพในศูนย์พักพิงชั่วคราว อ.แม่สอด จ.ตากปีนี้ 2 ราย โดย 1 รายแยกกักตัวไว้รักษาในค่ายเป็นการเฉพาะ อีก 1 รายข้ามกลับไปที่ฝั่งพม่าไม่สามารถติดตามตัวได้ สำหรับทั่วโลก จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ปี 2550 มีผู้ป่วยวัณโรค 14.6 ล้านคน ร้อยละ 90 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และพบรายใหม่ปีละ 8.8 ล้านคน พบเชื้อวัณโรคดื้อยาชนิดเอ็กซ์ ดี อาร์ รวม 269 รายใน 35 ประเทศ มากที่สุดที่ทวีปอเมริกาใต้ ในประเทศอาเจนตินา รองลงมาคือทวีปยุโรปตะวันออก ค่ารักษาแพงมากมีรายงานที่สหรัฐอเมริกาใช้ค่ารักษาสูงถึงรายละ 10 ล้านบาท สำหรับประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษา 58,000 ราย แต่คาดว่าน่าจะมีผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมดประมาณ 91,000 ราย ในส่วนของนายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ที่รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2544 ตรวจพบเชื้อวัณโรคดื้อยา เอ็กซ์ ดี อาร์ จำนวน 13 รายนั้น กรมควบคุมโรคจะประสานขอเชื้อมาตรวจยืนยันอีกครั้ง ติดตามดูแลรักษาผู้ป่วยหากยังมีชีวิตอยู่ และแจ้งผลรายงานองค์การอนามัยโลกต่อไป อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็นิ่งนอนใจไม่ได้ เนื่องจากขณะนี้พบว่า อัตราการรักษาผู้ป่วยวัณโรคหายขาดของไทยสำเร็จเพียงร้อยละ 79 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลกกำหนดคือร้อยละ 85 จะต้องเร่งควบคุมแก้ไขให้ได้ตามมาตรฐาน โดยกำหนดยุทธศาสตร์การควบคุมป้องกันโรคไว้ 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. ใช้การรักษาโดยวิธีดอท (DOT : Directly Observed Treatment) ซึ่งเป็นมาตรฐานระยะสั้น 6 เดือน มีผู้คอยกำกับการกินยาของผู้ป่วยโดยตรงซึ่งมีประมาณ 2 – 4 ชนิดร่วมกันทุกวันให้ได้มากกว่าร้อยละ 85 2. ผสมผสานการดูแลผู้ป่วยวัณโรคกับโรคเอดส์ไปพร้อม ๆ กัน เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยวัณโรคร้อยละ 17 พบว่าติดเชื้อเอช ไอ วีด้วย และยังพบผู้ป่วย เอช ไอ วี ติดเชื้อวัณโรคร้อยละ 30 3. เฝ้าระวังป้องกันในกลุ่มเสี่ยงพิเศษ ได้แก่ คนต่างด้าว ผู้ที่อยู่ตามแนวชายแดน โดยร่วมมือกับองค์กรนานาชาติ เช่น องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF : Medcin San Frontier) ยู เอ็น เอดส์ (UNAIDS) ยูนิเซฟ (UNICEF) กองทุนโลกเพื่อการแก้ไขปัญหามาลาเรีย-วัณโรค-เอดส์ 4. ควบคุมปัญหาการดื้อยาโดยทดสอบความไวของเชื้อต่อยาอย่างต่อเนื่อง มีศูนย์ทดสอบที่ศูนย์วัณโรคบางโคล่ 5.ร่วมมือกับสถาบันที่เกี่ยวข้องศึกษาวิจัยเชื้อ และ 6. พัฒนาบุคลากรในเครือข่ายบริการดูแลผู้ป่วยทั่วประเทศ ในการเก็บตัวอย่าง เฝ้าระวังผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องครบวงจร นายแพทย์ธวัชกล่าวต่อไปว่า วัณโรคที่ในไทยประมาณร้อยละ 95 เป็นวัณโรคปอด เชื้อโรคจะอยู่ที่ปอด อาการหลักคือ ไอเรื้อรังมากกว่า 2 อาทิตย์ มีไข้ต่ำ ๆ ในช่วงบ่ายหรือเย็น เหงื่อออกตอนกลางคืน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผู้ที่มีอาการขอให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว หากพบว่าเป็นวัณโรคจะต้องรักษาให้หายขาด โดยกินยาติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 6 เดือน ห้ามขาดยาเด็ดขาด เพราะจะทำให้เชื้อพัฒนาตัวเองให้ดื้อยา จนรักษาด้วยยาตัวเดิมไม่ได้ ต้องเพิ่มยาให้แรงขึ้นหรือใช้ยาตัวใหม่ ใช้เวลารักษานานขึ้น และหากยังขาดยาเหมือนเดิมอีกจะดื้อยาทุกชนิด รักษาไม่ได้ อัตราตายสูงถึงร้อยละ 85 ฉะนั้นการป้องกันที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้ป่วยจะต้องกินยาที่แพทย์จ่ายทุกวันให้จนครบ และต้องป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น โดยใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยกรมควบคุมโรคจะประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ขอความร่วมมือกับร้านขายยา ซุปเปอร์มาเก็ต ให้ขายหน้ากากอนามัยในราคาถูก ประมาณชิ้นละ 1 บาท เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงหน้ากากอนามัยได้ง่ายขึ้น ************************************* 13 มิถุนายน 2550


   
   


View 5    13/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ