หมอวัลลภ กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุข เฝ้าระวังโรคฉี่หนูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นฤดูกาลระบาด แนะให้ใส่รองเท้า ผู้ที่มีแผลที่ขาหรือเท้า อย่าเดินลุยน้ำ ผักสดที่เก็บจากทุ่งนาก่อนกินต้องล้างน้ำให้สะอาด รอบ 5 เดือนปีนี้ทั่วประเทศพบผู้ป่วยแล้ว 565 ราย เสียชีวิต 8 ราย
วันนี้ (14 มิถุนายน 2550) นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ หลังพบปะและมอบนโยบายแก่อาสาสมัครสาธารณสุข ที่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน บางพื้นที่เกิดน้ำท่วมขัง ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อยคือ โรคฉี่หนู หรือไข้เลปโต (Leptospirosis) ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับคนในชุมชนทุกจังหวัด ประชาสัมพันธ์การป้องกันตัว และเฝ้าระวังการเจ็บป่วย หากมีรายงานผู้ป่วยให้ลงไปสอบสวนควบคุมโรคที่บ้านทันที เพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที สำหรับจังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งแต่ต้นปี 2550 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูแล้ว 6 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อว่า โดยทั่วไปโรคฉี่หนูจะระบาดในช่วงเดือนพฤษภาคม สูงสุดประมาณเดือนสิงหาคม ตั้งแต่ตันปีจนถึงวันนี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 565 ราย เสียชีวิต 8 ราย แยกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 300 ราย มากสุดที่จังหวัดขอนแก่น 59 ราย เสียชีวิต 3 ราย ภาคใต้ 130 ราย มากที่สุดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 26 ราย เสียชีวิต 4 ราย ภาคเหนือพบ 80 ราย มากที่สุดที่จังหวัดเชียงราย 19 ราย และภาคกลางป่วย 55 ราย เสียชีวิต 1 ราย มากที่สุดที่จังหวัดสระแก้ว 14 ราย ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นวัยทำงาน ในภาคเกษตรกรรม และอาชีพจับปลา สัตว์น้ำ ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 24 ปี จนถึงน้อยสุด 1 ปี รวมทั้งหมด 113 ราย
นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อไปว่า โรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อมาจากฉี่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นแหล่งรังโรค เช่น หนู วัว ควาย เชื้อโรคนี้มีชีวิตอยู่ในน้ำได้หลายเดือน และเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล แม้กระทั่งแค่รอยขีดข่วน รอยถลอกก็เข้าได้ หรือโดยการกลืนน้ำที่มีเชื้อโรคเข้าไป เชื้อจะเข้าไปในกระแสเลือดและไปยังอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญ คือ ตับ ไต และปอด ส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 7-10 วัน
เมื่อติดเชื้อโรคฉี่หนูแล้ว จะมีอาการคล้ายคนเป็นไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อ แต่มีลักษณะพิเศษที่ต่างจากโรคอื่นคือ ปวดที่กล้ามเนื้อบริเวณน่อง หากรายใดมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพบแพทย์เป็นการด่วน เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหายขาดได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาในระยะแรก ปล่อยไว้จนเรื้อรัง จะเกิดโรคแทรกซ้อน คือ ไตวาย ตับวาย ทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ได้กำชับให้แพทย์ในโรงพยาบาลทุกแห่ง ให้การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยทุกคนให้ดีที่สุด เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนและลดการเสียชีวิต ขอให้ผู้ป่วยแจ้งประวัติการลุยน้ำให้แพทย์ผู้รักษาทราบด้วย
สำหรับการป้องกันโรคฉี่หนู ควรหลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ลุยน้ำนานๆ โดยไม่ใส่รองเท้าบู๊ต หรือว่ายน้ำในขณะที่มีน้ำท่วมขัง ถ้ามีบาดแผลหรือรอยถลอก ระวังอย่าให้บริเวณแผลแช่ในน้ำ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรปิดปลาสเตอร์ก่อนลงน้ำ และรีบล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง การบริโภคผักสดที่เก็บมาจากทุ่งนาต้องล้างให้สะอาด เนื่องจากอาจปนเปื้อนฉี่หนู น้ำดื่มให้ต้มก่อนเพื่อทำลายเชื้อ ดูแลบ้านเรือนให้สะอาด กำจัดขยะ ไม่ให้เป็นที่อยู่และแหล่งอาหารของหนู ควรเก็บอาหารไว้ในที่มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้หนูถ่ายปัสสาวะรดอาหาร อาหารที่ค้างมื้อ จะต้องนำมาอุ่นในเดือดก่อนรับประทาน และล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหาร
***************************** 14 มิถุนายน 2550
View 8
14/06/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ