รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทยเสี่ยงพิการ อัมพาต จากโรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบตันประมาณ 20 ล้านคน ต้นตอมาจากโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง เสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป ประมาณ 5-20 เท่าตัว กำชับสาธารณสุขจังหวัดเร่งทำแผนลดโรค ออกค้นหาผู้ป่วยถึงบ้าน โดยเพิ่มทักษะให้ อสม.เป็นผู้ช่วยคัดกรองโรคเบื้องต้นในชุมชน วันนี้ (15 มิถุนายน 2550) ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานเด่นอสม. ของจังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 9,000 คน เพื่อเพิ่มทักษะในการดูแลประชาชนในชุมชน และให้สัมภาษณ์ว่า อาสาสมัครสาธารณสุขซึ่งทั่วประเทศมี 8 แสนกว่าคน นับเป็นแบบอย่างของประชาชนในหมู่บ้านในด้านสุขภาพอนามัย ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาทักษะความสามารถของ อสม. ให้สามารถเฝ้าระวัง แก้ไขปัญหาของหมู่บ้านได้ เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดนก เอดส์ ยาเสพติด รวมทั้งการตรวจวัดความดันโลหิต และเจาะเลือดค้นหาผู้ป่วยเบาหวานเบื้องต้น แต่ขณะนี้ปัญหาสุขภาพของคนชนบท เปลี่ยนแปลงจากอดีตที่พบโรคติดเชื้อเป็นสาเหตุการป่วย มาเป็นโรคเรื้อรังกำลังเป็นสาเหตุการป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่แพ้คนในเขตเมือง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อว่า โรคแทรกซ้อนที่กำลังเป็นปัญหาจาก 3 โรคดังกล่าว ที่จะเป็นภาระต่อผู้ดูแลคือ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต จากเส้นเลือดสมองแตก หรือสมองขาดเลือดไปเลี้ยงจากเส้นเลือดตีบตัน มีผู้ที่เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ปีละ 150,000 ราย มักพบในผู้สูงอายุ เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณปีละ20-30% หรือปีละ 45,990 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 5 ราย ส่วนที่เหลือประมาณ 80% จะมีความพิการ ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน เสียค่าใช้จ่ายรายละ 100,000 บาทต่อปี กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดอัมพาต อัมพฤกษ์ มากกว่าคนทั่วไป มีอยู่ประมาณ 20 ล้านคน ได้แก่ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่มีอยู่ 10 ล้านคน ควบคุมอาการได้เพียง 9 หมื่นคน เสี่ยงเป็นอัมพาต 5-20 เท่าของคนปกติ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการแล้ว 3 ล้านคน ควบคุมอาการได้เพียง 4 แสนคน เสี่ยงเป็นอัมพาต 3-5 เท่าตัวของคนปกติ หากป่วยทั้ง 2 โรค เสี่ยงสูงถึง 15 เท่าตัว รวมทั้งผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูงซึ่งมีประมาณ 7 ล้านคน คนอ้วน สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ คนที่กินเค็ม มันจัด และขาดการออกกำลังกาย จะต้องเร่งค้นหาผู้ที่เป็นโรคนี้และให้การรักษา เพื่อควบคุมอาการให้ได้ ซึ่งจะป้องกันโรคแทรกซ้อนที่จะตามมาได้ “ปัญหาที่พบในขณะนี้คือ ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่มีเครื่องวัดความดันโลหิต ไม่มีที่เจาะตรวจน้ำตาลในเลือด หรือวัดระดับไขมัน ทำให้ไม่สามารถตรวจเช็คร่างกายเบื้องต้นด้วยตนเองได้ ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังจะป่วย บางคนถ้าไม่ป่วยจนต้องไปโรงพยาบาล ก็จะไม่ทราบว่ามีอาการโรคความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน” นายแพทย์วัลลภกล่าว นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อไปว่า ได้มอบนโยบายให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนลดโรค เน้นการป้องกันไม่ให้คนที่ยังมีสุขภาพดีในขณะนี้ป่วยในวันหน้า ปลูกฝังให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพได้แก่ ลดอาหารรสหวาน เค็ม มัน ออกกำลังกาย รวมทั้งจัดทีมเชิงรุกออกคัดกรองผู้ป่วยในชุมชน โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกับ อสม. ออกค้นหาผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะป่วย เพื่อให้เข้ารับการรักษาทันการและต่อเนื่อง ลดภาวะแทรกซ้อนลงให้น้อยที่สุด โดยกำหนดวันรณรงค์ครั้งใหญ่ทั่วประเทศในเร็วๆ นี้ ***************************** 15 มิถุนายน 2550


   
   


View 5    15/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ