โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนไม่ควรปลูกสมุนไพรดองดึง ร่วมกับพืชผักสวนครัวที่กินใบ-ผลหรือยอดอ่อน   เพื่อป้องกันการเก็บผิดพลาด   เนื่องจากดองดึงมีสารหลายชนิดทั้งที่มีสรรพคุณเป็นยาและมีความเป็นพิษสูง ถึงขั้นเสียชีวิต  พืชชนิดนี้ต้องใช้โดยผู้มีความรู้เท่านั้น   โดยล่าสุดพบเสียชีวิตแล้ว 1 รายที่จ.ศรีสะเกษ จากการกินผลดองดึงเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นผลของต้นสลิด      แนะหากพบผู้ป่วยจากการกินลูกดองดึง ให้ช่วยชีวิตเบื้องต้นโดยให้กินไข่ขาวหรือดื่มนมทันทีเพื่อทำให้อาเจียนออกมาให้มากที่สุด เพื่อลดการดูดซึมพิษเข้าร่างกาย และรีบส่งไปโรงพยาบาลทันที

แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนใช้สมุนไพร  เพื่อการพึ่งตนเอง รักษาอาการเจ็บป่วย ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ  โดยตั้งเป้าในปี 2557  จะส่งเสริมให้มีการใช้ยาสมุนไพรให้ได้ร้อยละ 12  และให้โรงพยาบาลทุกแห่งเปิดบริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกด้วยการแพทย์แผนไทยให้ได้ร้อยละ 16 ของผู้ป่วยที่ใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอก   ซึ่งจากการประเมินผลพบว่าได้รับความนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวว่า  พืชสมุนไพรมีทั้งไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุก   ไม้เถา และหัวใต้ดิน  สมุนไพรบางชนิดมีสารอัลคาลอยด์ที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แต่มีความเป็นพิษสูง  จะต้องใช้โดยผู้เชี่ยวชาญ เช่นต้นสมุนไพรดองดึง มีขึ้นในป่าและในชนบทต่างๆ ลักษณะลำต้นเป็นเถา ผลมีความคล้ายคลึงกับพืชผักสวนครัวที่กินใบ ดอก ยอดอ่อน และผลอ่อน  หากปลูกสุมไพรดองดึงไว้บริเวณเดียวกัน อาจเกิดความผิดพลาดในการเก็บมารับประทานได้   โดยเมื่อเร็วๆนี้  สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบมีรายงานผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการรับประทานลูกดองดึง  จำนวน 1 ราย  เป็นเพศหญิง อายุ 63 ปี อยู่ที่อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ  รับประทานผลดองดึง 2 ผลที่นำมานึ่งรวมกับปลานิล  หลังจากรับประทานไปแล้วประมาณ 4 ชั่วโมง มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน อาเจียนหลายครั้ง ปวดบิดท้องอย่างรุนแรง ถ่ายเหลวปริมาณมาก และเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในอีก 1 วันต่อมา  

ผลการสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พบว่าผู้ที่เก็บผลดองดึงไปปรุงอาหาร  ไม่รู้จักสมุนไพรดองดึง และเข้าใจผิดคิดว่าผลของดองดึงคือผลของต้นสลิด ซึ่งปลูกติดกับต้นดองดึงและเลื้อยพันกัน โดยในปี 2548 มีรายงานเสียชีวิตจากกินใบดองดึงต้ม 1 ราย ที่จ.ชัยภูมิ จึงต้องให้ความรู้ประชาชนในการปลูกและใช้สมุนไพรอย่างปลอดภัย 

   

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อว่า  จากกรณีการเสียชีวิตดังกล่าว  กระทรวงสาธารณสุข ขอย้ำเตือนประชาชนอย่ารับประทานพืชที่ไม่รู้จัก หรือไม่แน่ใจ  และไม่ควรปลูกต้นดองดึงหรือพืชที่รับประทานไม่ได้ในบริเวณบ้านหรือปลูกปะปนกับผักสวนครัวที่เป็นไม้เลื้อยคล้ายกัน เช่น เถาสลิด เถาตำลึง เถามะระ ทำให้แยกได้ยาก และประชาชนควรช่วยกันสอนหรือถ่ายทอดความรู้พืชมีพิษต่างๆที่มีในท้องถิ่นให้ลูกหลานรู้จัก  หากมีพืชชนิดนี้เกิดขึ้นที่โรงเรียน ควรล้อมรั้วปักป้ายชื่อของพืชและอันตรายให้นักเรียนรู้จัก เพื่อไม่นำมาบริโภค  

 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มียาต้านพิษของดองดึง ในการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นหากสงสัยว่ารับประทานพืชที่มีพิษ มีวิธีการดังนี้คือ ให้ผู้ป่วยกินไข่ขาวหรือดื่มนมทันที เพื่อให้อาเจียนออกมาให้มากที่สุด  ซึ่งจะช่วยลดการดูดซึมพิษเข้าร่างกาย       แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลที่อยู่ใกล้บ้านทันที 

ทางด้าน นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์  ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกล่าวว่า  สมุนไพรดองดึงมีชื่อเรียกตามภาษาถิ่นหลายชื่อคือ  ดาวดึงส์ ดองดึง หัวขวาน หัวฟาน พันมหา ก้ามปู  ต้นไม้ชนิดนี้เป็นพรรณไม้เถา มีหัวหรือเหง้าใต้ดิน ดอกเดี่ยวสมบูรณ์เพศ ออกตามซอกใบบริเวณปลายยอด มีกลีบดอก 6 กลีบ สีสวยสะดุดตา พืชชนิดนี้จัดเป็นเครื่องยาในตำรับยาแผนไทยหลายขนาน ได้แก่ยาสามัญประจำบ้านแผนไทยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เช่นตำรับยากษัยเส้น หรือยาแก้ปวดเมื่อย เป็นต้น    แต่การใช้สมุนไพรชนิดนี้ต้องใช้โดยผู้ที่มีความรู้เท่านั้นและใช้อย่างระมัดระวัง โดยสรรพคุณทางด้านแพทย์แผนไทยมีดังนี้ หัวมีรสร้อน เมา แก้โรคเรื้อน  แก้แมลงสัตว์กัดต่อย หัวสดตำพอกหัวเข่า แก้ปวดข้อ แก้ปวดกล้ามเนื้อฟกบวม

ในเหง้าและเมล็ดของดองดึงจะมีสารอัลคาลอยด์หลายชนิดเช่นโคลชิซีน(colchicines), สารกลอริโอซีน (gloriosine),สารซุปเปอร์บีน (superbine) ที่มีพิษอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะสารโคลชิซีน เป็นสารที่มีพิษต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ และมีคุณสมบัติในการแบ่งเซลล์  วงการแพทย์แผนปัจจุบันนำสารโคลชิซีนจากดองดึงมารักษาโรคเก๊าท์และมะเร็งบางชนิด โดยพิษจากการใช้สารชนิดนี้ มีอาการเจ็บปวดตามตัวเหมือนถูกเข็มแทงปากและผิวหนังชา คลื่นไส้รุนแรง ตามด้วยท้องเสีย มีเลือดปน หายใจลำบาก อาจเสียชีวิตได้ใน 3-20 ชั่วโมง

ทั้งนี้จากการศึกษาวิจัยข้อมูลการใช้สมุนไพรดองดึงในต่างประเทศพบว่า ที่อินเดียมีการใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เช่น ใช้ยางจากปลายใบ รักษาสิว ผงที่ได้จากหัวผสมน้ำมันมะพร้าวใช้รักษาโรคผิวหนังหรือถูกงูกัดและแมงป่องกัด  หรือผสมน้ำทาศีรษะคนหัวล้าน  ใช้น้ำคั้นจากใบรักษาเหา   ส่วนหัวใช้รักษาอาการช้ำบวมและเคล็ดขัดยอกต่างๆ  ที่อัฟริกามีการใช้น้ำต้มจากใบดองดึง นำไปทาแก้ไอ แก้ปวด บรรเทาอาการคัดจมูก ใช้สูดดมแก้แพ้   

***************************** 21 พฤศจิกายน 2556

 



   
   


View 12    21/11/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ