กฎอนามัยระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2548 มีผลบังคับใช้ทั่วโลกตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อให้ทุกประเทศยึดเป็นแนวปฏิบัติ ในการควบคุมป้องกันโรคระบาดข้ามแดนเป็นมาตรฐานเดียวกัน ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเลือกปฏิบัติ หรือใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้า และให้โปร่งใสข้อมูล โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทยชี้ หากทุกประเทศปฏิบัติตามเต็มที่ จะเป็นการสร้างความปลอดภัยให้สังคมโลกจากโรคระบาดและภัยฉุกเฉินทางสาธารณสุขอื่นๆ นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งแต่วันนี้ (15 มิถุนายน 2550) เป็นต้นไป กฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 (International Health Regulation : IHR 2005) ซึ่งเป็นข้อตกลงของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกทั้ง 192 ประเทศ เพื่อตรวจจับการระบาด ป้องกันควบคุมโรคโรคติดต่อข้ามแดนและภัยฉุกเฉินทางสาธารณสุขอื่นๆ ลดผลกระทบในการเดินทาง การขนส่งระหว่างประเทศ จะเริ่มมีผลบังคับใช้พร้อมกัน ทั่วโลก ทุกประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกจะต้องปฏิบัติตามเป็นแนวทางเดียวกัน โดยนายแพทย์เจยาวิก ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ชี้แจงว่า วัตถุประสงค์ของการประกาศใช้กฎอนามัยระหว่างประเทศฉบับนี้ เพื่อให้ทุกประเทศมีระบบการป้องกัน ควบคุมการแพร่กระจายโรคและภัยสุขภาพข้ามประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเดินทาง การค้าขายระหว่างประเทศได้ และป้องกันไม่ให้ใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้า หรือไม่ให้มีการปกปิดข้อมูล ซึ่งเกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล รวมทั้งป้องกันการใช้มาตรการที่รุนแรงเกินความจำเป็น เช่น การกักตัว การห้ามเข้าประเทศ การเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล พร้อมกันนี้ ได้กล่าวขอบคุณและชมเชยรัฐบาลไทย ที่เป็นตัวอย่างในการสนับสนุนกฎอนามัยระหว่างประเทศ นายแพทย์มรกต กล่าวตอว่า ตามกฎอนามัยฉบับนี้ ได้ให้ประเทศสมาชิกรายงานการพบโรคระบาดให้องค์การอนามัยโลกภายใน 24 ชั่วโมง แม้จะมีผู้ป่วยเพียงรายเดียวก็ตาม โดยต้องรีบควบคุมป้องกันโรคในประเทศทันทีมี 4 โรค ได้แก่ 1. ฝีดาษ (Smallpox) 2.โปลิโอ (Polio) 3.ซาร์ส (Sars) และ 4.โรคไข้หวัดใหญ่ในคน ที่เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (Human influenza caused by a new subtype) และกำหนดโรคที่ต้องแจ้งองค์อนามัยโลก เมื่อมีความรุนแรงหรือเกิดการระบาดที่จะกระทบต่อประเทศอื่นอีก 7 โรค ได้แก่ 1.อหิวาตกโรค (Cholera) 2.กาฬโรค (Pneumonic Plage) 3.ไข้เหลือง (Yellow Fever) 4.ไข้เลือดออกอีโบล่า (Ebola) ไข้เลือดออกลาสสา (Lassa) และไข้เลือดออกมาร์เบิร์ก (Marburg) 5.ไข้เวสท์ ไนล์ (West Nile Fever) รวมทั้งโรคอื่นๆ ที่น่าเป็นกังวล อาทิ ไข้เลือดออก (Dengue fever) ไข้ริฟท์ วัลเลย์ (Rift Valley) และไข้สมองอักเสบ (Meningococcal disease) รวมถึงภัยสุขภาพอื่นๆ ด้วย ในส่วนของประเทศไทย คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมการปฏิบัติการตาม กฎอนามัยระหว่างประเทศ โดยมอบหมายให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เป็นแกนกลางในการประสานจัดทำแผนแม่บท เพื่อให้มีหน่วยระบาดวิทยาและทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ และทำหน้าที่ประสานกับองค์การอนามัยโลก ด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ อุปกณ์ต่างๆ ประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ได้แก่ ท่าอากาศยาน 15 แห่ง ท่าเรือ 15 แห่ง ด่านพรมแดน 30 แห่งใน 30 จังหวัด โดยจะมีการซักซ้อมการปฏิบัติในการเฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตอันใกล้นี้ ***************15 มิถุนายน 2550


   
   


View 10    15/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ