องค์การอนามัยโลก ชูไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศนำร่องแก้ไขควบคุมปัญหาโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง เป็นภัยเงียบตัวฉกาจ คุกคามสุขภาพคนทั่วโลก โดยไทยพบมีคนป่วยจาก 2 โรคนี้กว่า 13 ล้านคน เหตุหลักมาจากความอ้วน เสี่ยงสูงเกิดโรคแทรกตามมาหลายโรค ค่ารักษาแพง โดยไทยเร่งควบคุมป้องกัน โดยเพิ่มพูนทักษะ อาสาสมัครสาธารณสุข 8 แสนคน ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจน้ำตาลในเลือดได้ เตรียมดีเดย์ รณรงค์วัดความดันโลหิตกลุ่มเสี่ยงอายุ 35 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ ปลายเดือนสิงหาคม 2550 นี้ นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขในจังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ และสุโขทัย ว่า อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.)เป็นกำลังสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ในชุมชน ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำให้งานหลายอย่างของกระทรวงสาธารณสุข ประสบผลสำเร็จ เช่น การควบคุมโรคไข้เลือดออก ไข้หวัดนก โรคเอดส์ ยาเสพติด เป็นต้น แต่ปัญหาหาสุขภาพขณะนี้ พบว่าคนไทยถูกภัยเงียบคุกคามชีวิตโดยไม่รู้ตัว ที่สำคัญ 5 โรค โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมะเร็ง จนทำให้เสียชีวิตและพิการตามมา กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ปรับกลยุทธ์แก้ไข โดยจะจัดอบรม อสม. 8 แสนคนทั่วประเทศ ให้มีความรู้ก้าวทันโรคใหม่ๆทั้งโรคที่เป็นปัญหาในพื้นที่ ในเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม 2550 “ขณะนี้ประชากรโลกทั้งในประเทศร่ำรวยและยากจนกำลังประสบปัญหากับโรคอ้วน โดยเฉพาะโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่เกิดมาจากความอ้วน หากเกิดในประเทศยากจนจะสร้างความเสียหายมหาศาล เพราะค่ารักษาแพง ขณะนี้คนไทยป่วยโรคความดันโลหิตสูง10 ล้านคน แต่รู้ตัวว่าป่วยเพียง 1 ใน 3 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการแล้ว 3 ล้านคน แต่รู้ตัวว่าป่วยเพียงครึ่งเดียว ผู้ป่วยเหล่านี้หากรักษาและควบคุมอาการไม่ดีจะเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง ที่พบได้บ่อยๆของโรคเบาหวาน คือ เกิดแผลเรื้อรังที่เท้า มีโอกาสถูกตัดขาสูงถึง ร้อยละ 11 สูงกว่าคนทั่วไปถึง 15-40 เท่าตัว รวมทั้งตาบอด และไตวาย ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก ถ้าเราควบคุมอาการ 2 โรคนี้จะลดโรคแทรกซ้อนลงได้” นายแพทย์วัลลภกล่าว นายแพทย์วัลลภกล่าวต่อไปว่า องค์การอนามัยโลกตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ได้เลือกประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศของภูมิภาคนี้ประกอบด้วย จีน อินเดีย ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ เป็นประเทศนำร่องของโลกเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เนื่องจากองค์การอนามัยโลกเห็นศักยภาพของประเทศไทยที่เคยประสบความสำเร็จจากการควบคุมโรคติดต่อต่างๆได้ผลดี ทั้งนี้ จากผลสำรวจของกรมอนามัย ปี 2532 พบเด็กไทยในเมืองอ้วน 9-10% ในชนบทอ้วน 4 % แต่ในขณะนี้เด็กในเมืองอ้วนมากกว่า 30 % เด็กในชนบทอ้วนเพิ่มเป็น 20 % หากเราไม่จัดการกับปัญหานี้ในอนาคตเด็กเหล่านี้จะป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้ สาเหตุของโรคอ้วน มาจาก การรับประทานอาหารรสหวานจัด เค็มจัด มัน รับประทานผัก-ผลไม้น้อยมาก มีคนไทยเพียง 10 % เท่านั้นที่รับประทานในปริมาณที่เพียงพอ กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งทำแผนรับมือกับปัญหานี้ ได้มอบนโยบายให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนลดโรค เน้นการป้องกันไม่ให้คนที่ยังมีสุขภาพดี ป่วยในอนาคต โดยส่งเสริมปลูกฝังให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ ลดอาหาร รสหวาน เค็ม มัน ออกกำลังกาย โดยหลังจากที่อบรมเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ ของอสม. ในเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม 2550 แล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะจัดหาเครื่องวัดความดันโลหิตและเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดชนิดที่อ่านผลง่าย มีความแม่นยำสูง ให้อสม.ทุกหมู่บ้าน และจะรณรงค์วัดความดันโลหิต ผู้ที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไปพร้อมกันทั่วประเทศ ปลายเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าจะคัดกรองผู้ที่มีเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะมีอาการป่วยได้อย่างน้อย 10 ล้านคน เพื่อเข้ารับการรักษาก่อน อย่างทันการและดูแลต่อเนื่องควบคู่กับการปรับพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ นายแพทย์วัลลภ กล่าวในตอนท้าย ************** 16 มิถุนายน 2550


   
   


View 5    17/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ