นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดระบบการแพทย์และสาธารณสุขรองรับผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมวางแผนกับศูนย์เอราวัณของกรุงเทพมหา นคร ทำงานคู่ขนานกันไป โดยจัดทีมแพทย์ร่วมกัน เข้าไปให้บริการทุกพื้นที่ที่มีการชุมนุม เพื่อดูแลประชาชน และเจ้าหน้าที่ได้อย่างทั่วถึงรวดเร็ว โดยได้เปิดวอร์รูมติดตามและประเมินสถานการณ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์สั่งการ ทีมแพทย์ฉุกเฉิน ที่โรงพยาบาลสงฆ์ อำนวยการประสานข้อมูลการบาดเจ็บ เสียชีวิต ทีมกู้ชีพ การดูแลผู้เจ็บป่วย โรงพยาบาลที่รับส่งต่อ ขณะนี้เตรียมทีมแพทย์ฉุกเฉินไว้ 22 ทีม จาก 11 จังหวัดรอบๆ กทม.
ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ยอดผู้บาดเจ็บสะสมล่าสุด ณ เวลา 15.00 น. วันนี้ (1 ธันวาคม 2556) มีทั้งหมด 68 ราย เสียชีวิต 3 ราย ขณะนี้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลรวม 17 ราย ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ โรงพยาบาลเปาโล โรงพยาบาลโชคชัย โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี โดยผู้บาดเจ็บในวันนี้มี 23 รายที่ได้รับบาดเจ็บจากแก็สน้ำตา
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า การดูแลผู้บาดเจ็บที่สัมผัสแก๊สน้ำตาเบื้องต้นสำคัญอันดับแรก คือการหลีกเลี่ยงและออกจากสถานที่ที่มีแก๊สน้ำตานั้น ไปบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทที่สะดวกและมีลมพัดให้สารเคมีนั้นกระจายออกไป ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารเคมีออกและใส่ไว้ในถุงที่ปิดมิดชิด ร่างกายที่โดนแก๊สน้ำตาล้างด้วยน้ำสะอาด โดยพยายามอย่าให้เสื้อผ้าเปียกเพราะสารเคมีจะละลายติดตามร่างกายได้ ในกรณีที่สารเคมีเข้าตาอาจจะใช้น้ำเกลือ เจือจางล้างออกแล้วรีบไปพบแพทย์
ทั้งนี้ อย่าใส่คอนแทคเลนส์ เข้าไปในพื้นที่เสี่ยงใช้แก๊สน้ำตา เพราะถ้าสารเคมีเข้าไปอยู่ในช่องว่างระหว่างดวงตากับคอนแทคเลนส์จะก่อให้เกิดอันตรายได้ อย่าหยิบลูกกระสุนหรือกระป๋องแก๊สน้ำตาชนิดขว้างที่ยังไม่ระเบิดขึ้นมาเพราะถ้าลูกกระสุนแก๊สน้ำตาระเบิดออกในมือจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ เคลื่อนตัวไปอยู่เหนือลม ปกป้องดวงตาด้วยการสวมแว่นตาว่ายน้ำหรือแว่นประเภทอื่นๆที่อากาศไม่สามารถเข้าได้ เตรียมผ้าชุบน้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชู เพื่อใช้ปิดจมูกและช่วยให้หายใจได้ในเวลาเคลื่อนตัวออกจากพื้นที่
สำหรับ แก๊สน้ำตา(tear gas) เป็นคำรวม ๆ ที่หมายถึง สารเคมีที่ออกฤทธิ์ให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุตา ทำให้น้ำตาไหล แต่สามารถระคายเคืองต่อเยื่อบุต่างๆ ทั้งที่ตา ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร รวมทั้งผิวหนังด้วย อาการที่อาจเกิดขึ้นเมื่อสัมผัสแก๊สน้ำตา ได้แก่ น้ำตาไหล มองเห็นไม่ชัด ตาแดง น้ำมูกไหล จมูกบวมแดง ปากไหม้และระคายเคือง กลืนลำบาก น้ำลายไหลย้อย แน่นหน้าอก ไอ รู้สึกอึดอัด หายใจมีเสียงดัง หายใจถี่ ผิวหนังไหม้ เป็นผื่น คลื่นไส้ อาเจียน
************************************** 1 ธันวาคม 2556