“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่อากาศหนาวเย็น แนะให้สวมเสื้อผ้าหรือเครื่องกันหนาวให้ความอบอุ่นร่างกายเป็นพิเศษ เนื่องจากประสาทรับรู้ความหนาวเย็นที่ผิวหนังมีความไวลดลง และระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหลอดเลือดที่ผิวหนังเสื่อมสภาพลง เสี่ยงอุณหภูมิในตัวลดลง อันตรายขั้นเสียชีวิต
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สภาพอากาศหนาวเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือขณะนี้ ประชาชนจะเสี่ยงเจ็บป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวมได้ง่าย เนื่องจากเชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดี ที่น่าห่วงคือกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีประมาณ 9 ล้านคน และส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 50 มีโรคประจำตัว เช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อว่า ภัยของสภาพอากาศที่หนาวเย็น จะเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ จึงขอให้หลีกเลี่ยงการโต้ลมหนาว ควรดูแลความอบอุ่นร่างกายเป็นกรณีพิเศษ สวมเสื้อผ้าที่มีความหนาหรือเครื่องกันหนาวอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะเวลากลางคืน เนื่องจากระบบประสาทรับรู้ความหนาวเย็นที่ผิวหนังของผู้สูงอายุจะมีความไวลดลง ไม่สามารถตอบสนองต่อความเย็นของอากาศรอบตัวด้วยการหนาวสั่นหรือการหดตัวของกล้ามเนื้อเพื่อให้เกิดความอบอุ่นในร่างกายได้ดีเหมือนในคนวัยหนุ่มสาว รวมทั้งระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหลอดเลือดที่ผิวหนังเพื่อไม่ให้ความร้อนสูญเสียออกจากร่างกาย ก็เสื่อมลงตามอายุขัย ดังนั้นหากปล่อยให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงมากผิดปกติ จะมีผลทำให้เลือดมีสภาพหนืดข้นและเส้นเลือดหดตัวส่งผลให้การไหลเวียนเลือดในร่างกายไม่ดี หัวใจต้องทำงานเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายหนักขึ้น อาจทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตได้
ในการรักษาความอบอุ่นให้ร่างกาย บุตรหลานควรดูแลให้ผู้สูงอายุสวมเสื้อผ้าหนาๆ หรือเครื่องกันหนาว เพื่อสร้างความอบอุ่นร่างกายอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะบริเวณที่สำคัญ 3 ส่วน จะต้องดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ 1.หน้าอกซึ่งมีหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย 2.ลำคอในที่ที่หนาวมากควรใช้พันผ้าพันคอ และ3.ที่ศีรษะ ควรสวมหมวกเพื่อลดการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย
ในส่วนของประชาชนทั่วไป ขอให้รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอโดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอและครบหมู่ เพิ่มอาหารประเภทแป้งและไขมันเพื่อให้พลังงานแก่ร่างกาย ยกเว้นผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30 นาที และพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ตรากตรำทำงานหนักจนเกินไป แพทย์หญิงพิมลพรรณกล่าว.
2 ธันวาคม 2556