วันนี้ (2 ธันวาคม2556) เวลา 16.00 น. ที่โรงพยาบาลสงฆ์ กทม.นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ อธิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมการแพทย์และคณะ ประชุมทีมปฎิบัติการกู้ชีพฉุกเฉิน ที่ออกปฎิบัติการช่วยเหลือประชาชน ในพื้นที่ที่มีการชุมนุมทางการเมือง สรุปผลการปฎิบัติ และปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า วันนี้ศูนย์บัญชาการการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (ส่วนหน้า) ที่โรงพยาบาลสงฆ์ ได้ส่งทีมปฎิบัติการกู้ชีพชั้นสูง(ALS) 5ทีม ไปบริเวณที่มีการปะทะได้แก่ แยกการเรือน แยกวัดเบญจมบพิตร สะพานชมัยมรุเชษ และนางเลิ้ง เพื่อเสริมกับทีมกู้ชีพที่ประจำการในพื้นที่ โดยได้รับการประสานขอสนับสนุนจากทางกรุงเทพมหานคร เพื่อนำผู้บาดเจ็บออกมาจากพื้นที่ปะทะ มารักษาพยาบาลและส่งต่อในรายที่อาการรุนแรงโดย ณ เวลา 16.00 น.(2 ธ.ค.56)ยอดผู้บาดเจ็บมีทั้งหมด 94 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่ถูกแก็สน้ำตา ในจำนวนนี้                มี 3 ราย ถูกยิง นอนพักรักษาตัวที่ห้องไอซียูโรงพยาบาลรามาธิบดี 2 ราย อีก 1รายรักษาแล้วกลับบ้านได้ ยืนยันจนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากสารพิษ ยกเว้นแก๊สน้ำตา

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้โรงพยาบาลสงฆ์ เป็นศูนย์บัญชาการการแพทย์ฯ (ส่วนหน้า) มีการสำรองทีมปฎิบัติการกู้ชีพจากโรงพยาบาลในสังกัด และมูลนิธิต่างๆ รวมทั้งเป็นศูนย์กระจายยา เวชภัณฑ์ วัสดุการแพทย์ สนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ที่ออกปฎิบัติการ รวมทั้งหน่วยแพทย์อาสา อาสาสมัคร มูลนิธิต่างๆที่ดูแลประชาชน โดยเป็นการสนับสนุนตามหลักมนุษยธรรม ไม่มีการซื้อขาย มีระบบการเบิกจ่าย เพื่อตรวจสอบว่าเป็นการนำไปใช้เพื่อรักษาผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บจริง ไม่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น กรณีน้ำเกลือ กระทรวงสาธารณสุขให้องค์การเภสัชกรรมจัดส่งไปยังโรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อกระจายส่งไปให้ทีมแพทย์ใช้รักษาผู้ป่วยตามที่ทีมแพทย์ทุกสังกัดขอรับการสนับสนุนเพื่อป้องกันความสับสนด้านข้อมูลข่าวสาร หากประชาชนมีข้อสงสัย สอบถามได้ศูนย์ปฎิบัติการการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02-590-1994 ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดบริการในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซน คือ โซนโรงพยาบาลจากสังกัดกทม. คือโรงพยาบาลวชิระ โรงพยาบาลกลาง โซนโรงพยาบาลสังกัดกรมแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงศึกษาธิการคือโรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลรามาธิบดี โซนสภากาชาดไทยคือโรงพยาบาลจุฬาฯ และโซนศิริราชพยาบาล เพื่อให้การดูแลประชาชนทั่วถึง และมีความคล่องตัวในการส่งต่อผู้ป่วยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้มีทีมปฎิบัติการกู้ชีพชั้นสูงประจำในพื้นที่รวม 14 ทีม                      มีแพทย์เป็นหัวหน้าทีม นอกจากนี้ ยังสำรองอีก 9 ทีมที่กระทรวงสาธารณสุข พร้อมให้การสนับสนุนทันทีที่ได้รับการร้องขอ

                        กระทรวงสาธารณสุข พร้อมให้บริการประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ทีมีการปะทะ มีผู้บาดเจ็บ โดยจะประสานการทำงานกับทีมแพทย์ทหาร แพทย์อาสาสมัคร รวมทั้งอาสาสมัครกู้ชีพจากมูลนิธิต่างๆที่เป็นเครือข่ายการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีความคล่องตัวสูงในการปฎิบัติงานที่เป็นพื้นที่อันตราย โดยจะประสานลำเลียงผู้ป่วยผู้บาดเจ็บออกจากจุดเกิดเหตุ เพื่อดูแลและส่งรักษาต่อ โดยทีมแพทย์กระทรวงสาธารณสุขจะตั้งจุดรอในพื้นที่ที่ปลอดภัยเพื่อความสะดวก รวดเร็วในการส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นการปฎิบัติการตามระบบสากลในการทำงานนายแพทย์ณรงค์ กล่าว     

ธันวาคม/7 **********************2 ธันวาคม 2556



   
   


View 10    03/12/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ