“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
ดูแลผู้ชุมนุม ส่วนทีมแพทย์จากโรงพยาบาลทั่วประเทศจะอาสาเข้ามาช่วยทำงานดูแลประชาชน ขอให้เข้ามาในระบบร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับทีมในพื้นที่ ให้การบริการประชาชนรวดเร็ว ปลอดภัยทั้งผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมศูนย์ปฎิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีชุมนุมทางการเมือง(ส่วนหน้า) และให้สัมภาษณ์ ว่า สรุปยอดผู้บาดเจ็บสะสม ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2556 เวลา 08.00 น. มีบาดเจ็บสะสม 256 ราย รับไว้รักษาในโรงพยาบาล 85 ราย เสียชีวิต 4 ราย สำหรับสถานการณ์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 มีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 129 ราย เป็นผู้ป่วยที่ถูกแก๊สน้ำตา 76 ราย ทั้งหมดกลับบ้าน ถูกยิง 19 ราย นอนรักษาในโรงพยาบาล 6 ราย จนถึงวันนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยจากการได้รับสารเคมีอื่นๆ ยกเว้น แก๊สน้ำตา
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันใน 2 เรื่อง คือเรื่องน้ำเกลือ ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้สนับสนุนน้ำเกลือให้ฟรี กับหน่วยแพทย์ หน่วยพยาบาลทุกหน่วยที่ประสานเข้ามาพร้อมมีบริการจัดส่งไปยังทีมแพทย์ด้วย และอีกปัญหาคือ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ที่กระทรวงสาธารณสุข ระดมเข้ามา ขณะนี้มีอยู่ 40 หน่วย พร้อมที่จะให้การดูแลประชาชนอย่างพอเพียง
ทั้งนี้ หากมีทีมแพทย์ที่จะมีจิตอาสาเข้ามาช่วย เป็นเรื่องที่ดี ขอให้ประสานมาที่กระทรวงสาธารณสุข จะได้กระจายแพทย์เข้าไปยังพื้นที่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้การบริการครอบคลุม รวดเร็ว ปลอดภัยทั้งผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ และจากการประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ ผู้ชุมนุมมีการกระจายกำลังเคลื่อนที่ไปยังสถานที่ต่างๆ หากเอาหน่วยแพทย์ไปตั้งไว้ที่เดียวในพื้นที่ชุมนุม การดูแลผู้ป่วยอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการตั้งจุดประสาน นำผู้ป่วย/ผู้บาดเจ็บออกมาจากพื้นที่
“ขอให้มาร่วมมือกันกับกระทรวงสาธารณสุขจะได้แบ่งกระจายกัน ว่า พื้นที่ใดต้องการแพทย์ดูแลจะได้ประสานจัดส่งเข้าไป น่าจะเป็นการดีกับประชาชนมากกว่า เพราะกระทรวงสาธารณสุขทำงานใกล้ชิดกับทีมแพทย์อาสาที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมอยู่แล้ว มีการประสานร่วมมือกันทั้งส่งทีมแพทย์ ยา เวชภัณฑ์เพราะบางครั้งการเข้าไปโดยที่ไม่ได้ตระเตรียมไว้ก่อนจะเป็นภาระ ขอให้เข้าไปอย่างเป็นระบบกับกระทรวงสาธารณสุข จะได้ไม่สร้างความสับสน” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบาย ขอให้ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมอย่างเท่าเทียมกัน และให้มีมาตรการเข้าไปเยียวยาผู้ประสบ ภัยจากกรณีนี้ทุกคน ทั้งนี้ ได้รับมอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ เดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบภัยที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลด้านการรักษาพยาบาล เพราะเป็นหน่วยงานที่ต้องดูแลด้านสุขภาพประชาชนทุกคนอยู่แล้ว ในส่วนกระทรวงพัฒนาสังคมฯ จะดูแลในเรื่องการเยียวยา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่อยากให้ประชาชนบาดเจ็บหรือสูญเสียจากเหตุการณ์นี้
ด้าน นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้มีจุดปฎิบัติการเพิ่มขึ้น 4 จุด คือ พระที่นั่งวิมานเมฆ แยกวัดเบญจมบพิตร แยกเทวกรรม ทางขึ้นทางด่วนยมราช โดยมีทีมจากมหาวิทยาลัย ศิริราชพยาบาล รามาธิบดี เข้าร่วมปฎิบัติการ โดยทุกจุดที่ลงไปจะแพทย์เป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติการกู้ชีพชั้นสูง ทำงานร่วมกับทีมกู้ชีพขั้นพื้นฐานจากมูลนิธิต่างๆ มีการประชุมจัดระบบร่วมกัน ร่วมกันสื่อสาร เพื่อกำหนดจุดต่าง ๆ
ขณะนี้เรามีศูนย์นเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี เป็นศูนย์สั่งการที่จะใช้ส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลใด โดยมีการตรวจสอบความพร้อม รวมทั้งจำนวนเตียงของโรงพยาบาลในพื้นที่ที่รับผิดชอบไว้แล้ว ส่วนจุดปฎิบัติการที่ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ อาจจะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ กำกับดูแลโดยโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า มีทีมแพทย์จาก 8 จังหวัดสนับสนุน และอีกจุดที่เฝ้าสถานการณ์คือ กระทรวงการคลัง ยังไม่ส่งทีมไปประจำ อยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์
***************************************** 3 ธันวาคม 2556