นำผู้ป่วยผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมเกือบ 300 ราย ส่งโรงพยาบาลรักษา แจ้งแพทย์ สหวิชาชีพจิตอาสาเข้ามาดูแลผู้ชุมนุม ระวังเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยที่นำส่งและบุคคลากร ควรเข้าร่วมแผนเอราวัณของกทม. ในภารกิจนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน  

วันนี้ (6 ธันวาคม 2556) ที่ โรงพยาบาลสงฆ์ กทม. นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ส่วนหน้า กรณีชุมนุมทางการเมือง กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขผู้ชุมนุม กระทรวงสาธารณสุขได้ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร ภายใต้แผนปฏิบัติการเอราวัณ ขณะนี้เป็นแผนเอราวัณ 2 ใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งทีมแพทย์ฉุกเฉินขั้นสูง (ALS) ที่มีในโรงพยาบาลต่างๆ และทีมฉุกเฉินขั้นพื้นฐานของมูลนิธิต่างๆ ที่หลักๆ คือปอเต็กตึ้งและร่วมกตัญญู ในการที่จะนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งเจ็บป่วย อุบัติเหตุ จากการชุมนุมและการปะทะกันนำส่งโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อความปลอดภัย โดยตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายนเป็นต้นมา ปฏิบัติการตามแผนเอราวัณของกรุงเทพมหานคร ช่วยนำส่งผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บไปรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนแล้วเกือบ 300 ราย

      

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการปฏิบัติการในพื้นที่ กทม.  ได้แบ่งพื้นที่รับผิดชอบ เป็น 4 โซน โซนที่ 1.ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ แถวสนามม้านางเลิ้ง กระทรวงการคลัง กรมการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขดูแล โซนที่ 2 ตะวันตกเฉียงเหนือใช้ถนนราชดำเนินเป็นเส้นแบ่ง แถวทำเนียบรัฐบาล ดูแลโดยวชิระพยาบาล โซนที่ 3 บริเวณเสาชิงช้า ศาลาว่าการฯ กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล และโซนที่ 4 ด้านถนนหลานหลวง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นความรับผิดชอบของสภากาชาดไทยและจุฬาลงกรณ์

สำหรับกรณีการเจ็บป่วยทั่วไป รวมทั้งการดูแลสุขภาพของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ไม่ใช่กรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน  แยกเป็นอีกภารกิจหนึ่ง ซึ่งผู้แลมวลชนผู้ชุมนุม มีระบบบริหารจัดการกันเองภายใน รวมทั้งมีแพทย์อาสาและสหวิชาชีพจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยดูแล โดยกรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุขได้เข้าไปประสานงานอย่างใกล้ชิดในการให้ข้อคิดเห็นเชิงบริหารจัดการ รวมทั้งสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ที่จำเป็นให้แก่ทีมแพทย์ที่ดูแลในกลุ่มมวลชน  ซึ่งปฏิบัติการทั้ง 2 ภารกิจมีลักษณะการปฏิบัติงานแตกต่างกัน โดยแผนเอราวัณเน้นการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินหรือผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาลต่างๆ เป็นหลัก

          ในส่วนทีมแพทย์ สหวิชาชีพที่อาสาเข้ามาดูแลผู้ชุมนุม เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ขอฝากเรื่องความปลอดภัย เพราะพื้นที่การชุมนุมมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา มีโอกาสเกิดการปะทะกันได้ตลอดเวลา หากจะเข้ามาช่วยในภารกิจนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินควรเข้าร่วมกับแผนเอราวัณของกรุงเทพมหานคร เพราะทีมงานต่างจังหวัดจะไม่คุ้นเคยกับเส้นทางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การนำส่งผู้ป่วยจะค่อนข้างลำบาก ต้องมาทำงานร่วมกันจริงๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่นำส่ง และความปลอดภัยของบุคลากรที่ทำงาน หากมีเหตุฉุกเฉินต้องการการช่วยเหลือสามารถได้โดยตรงที่ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ส่วนหน้า กรณีชุมนุมทางการเมือง กระทรวงสาธารณสุข โทร. 0-2354-5238, 0-2354-4307 หรือที่นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติกรป้องกันแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ส่วนหน้า โทร. 08-9801-0444                        

   *********************         6 ธันวาคม 2556



   
   


View 9    06/12/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ