สาธารณสุขไทย พร้อม 9 ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จับมือองค์การอนามัยโลก เร่งรณรงค์เพื่อความปลอดภัยผู้ป่วยในโรงพยาบาล หลังพบมีผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาลทั้งที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาปีละกว่า 1 ล้านคน โดยในประเทศกำลังพัฒนามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว 20 เท่าตัว สำหรับไทยประกาศ 4 มาตรการรับมือรณรงค์ในปี 2550-2553 เน้นการล้างมือ การป้องกันการติดเชื้อจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ การดูแลความสะอาดของเครื่องมือแพทย์ และความปลอดภัยจากการใช้ยา
เช้าวันนี้ (20 มิถุนายน 2550) ที่โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพฯ นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล (Nation Launch on Patient Safety Clean Care is Safer Care) ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ปฏิบัติงานโรงพยาบาลของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การอนามัยโลกหรือเซียโร่ (SEARO) 10 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฎาน อินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา มัลดีฟ พม่า เนปาล ติมอร์เลสเต และประเทศไทย รวม 40 คน หลังจากนั้นเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือในการรณรงค์เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับองค์การอนามัยโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ได้แก่ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร เจ้ากรมการแพทย์ทหารบก เจ้ากรมการแพทย์ทหารเรือ เจ้ากรมการแพทย์ทหารอากาศ และนายแพทย์ใหญ่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสนับสนุนการแก้ปัญหาการติดเชื้อเนื่องมาจากการรักษาพยาบาล เพื่อประกาศนโยบายการส่งเสริมความปลอดภัยของผู้ป่วยในโรงพยาบาล เนื่องในปีการรณรงค์ การเพิ่มความปลอดภัยในการบริการ (Clean Care is Safer Care) ของพันธมิตรเพื่อผู้ป่วยปลอดภัย แห่งองค์การอนามัยโลก
นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า การติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นโรคแทรกซ้อนที่สำคัญต่อผู้ป่วยที่มีร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อง่าย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก องค์การอนามัยโลกระบุว่าต่อปีจะมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มหลังเข้ารักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 1.4 ล้านคน โดยในประเทศที่พัฒนาแล้วเกิดขึ้นร้อยละ 5-10 ส่วนประเทศกำลังพัฒนาจะมีความเสี่ยงสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ประมาณ 20 เท่าตัว ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือรักษายุ่งยากขึ้น ต้องใช้ยาราคาแพงและมีฤทธิ์แรงขึ้น องค์การอนามัยโลกได้แก้ปัญหาโดยร่วมกับสหพันธ์โลกเพื่อความปลอดภัยผู้ป่วย กำหนดให้ปีพ.ศ. 2548-2549 เป็นปีแห่งการรณรงค์การดูแลที่สะอาดคือการเพิ่มความปลอดภัยในการบริการ โดยให้ทุกประเทศเน้น 5 กิจกรรม ได้แก่ การให้เลือดที่ปลอดภัย การฉีดยาและฉีดวัคซีนที่ปลอดภัย การสุขาภิบาลและการจัดการขยะที่ปลอดภัย การให้บริการที่ปลอดภัย และความสะอาดของมือ เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการติดเชื้อในโรงพยาบาลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และส่งเสริมกลยุทธ์ในการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลให้แก่ประเทศสมาชิก
นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของประเทศไทยได้มีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลมาตั้งแต่ พ.ศ. 2514 ส่งผลให้อัตราการติดเชื้อลดลงจากร้อยละ 12 ในปี พ.ศ. 2531 เหลือร้อยละ 7 ในปีพ.ศ. 2549 ไทยยังสามารถป้องกันการระบาดของโรคซาร์สและโรคไข้หวัดนกได้สำเร็จ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่ชัดเจน และมีคณะกรรมการป้องกันการติดเชื้อแห่งชาติ ประกอบด้วย กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นแกน
สำหรับในปี พ.ศ. 2550-2553 จะเน้นการพัฒนางานเพื่อยกระดับมาตรฐานในการให้บริการ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น สร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานที่สำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ 1. การรณรงค์ให้บุคลากรล้างมือหลังให้บริการผู้ป่วยทุกครั้ง 2.ยกมาตรฐานการพยาบาลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อป้องกันปอดอักเสบ 3. ส่งเสริมดูแลความสะอาดของอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ทุกชนิด และ 4.สร้างความปลอดภัยจากการใช้ยา ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขยินดีที่จะเผยแพร่ผลงาน ประสบการณ์สู่ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกเพื่อประโยชน์ต่อไป
*******20 มิถุนายน 2550
View 7
20/06/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ