รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการหน่วยแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมรับมือเหตุพิบัติภัยจากพายุฟ้าฝน และการชุมนุมตลอด 24 ชั่วโมง แนะประชาชนโทรแจ้งขอรับความช่วยเหลือทาง 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งอุบัติเหตุทุกประเภทหรือป่วยฉุกเฉิน ผลงานรอบ 6 เดือนนี้ได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินแล้วเกือบ 2 แสนราย รอดชีวิตร้อยละ 99 ปีนี้ตั้งเป้าจะให้บริการให้ได้ 400,000 ครั้ง
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมการรับมือภัยฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะพายุฝนที่ตกหนักตามประกาศคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงภัยประมาณ 10 จังหวัดเช่นแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี รวมทั้งเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดจากการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงว่า ได้สั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมพร้อมรับมือการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บหรือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินพร้อมจะออกไปให้การรักษาพยาบาลและนำผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลอย่างปลอดภัยและรวดเร็ว ซึ่งจะสามารถลดอันตรายความรุนแรง และอาการแทรกซ้อนจากการให้ความช่วยเหลือไม่ถูกต้องลงได้ ประชาชนสามารถโทรแจ้งขอรับความช่วยเหลือได้ที่เบอร์ 1669 บริการฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ในด้านการเตรียมพร้อมโรงพยาบาลที่จะรองรับผู้บาดเจ็บจากเหตุชุมนุมที่สนามหลวง ได้แบ่งบริการออกเป็น 3 โซน คือโซนชั้นในได้แก่ร.พ.กลาง ร.พ.ราชวิถี ร.พ.ศิริราช วชิระพยาบาล ร.พ.พระมงกุฎเกล้า ร.พ.รามาธิบดี โซนชั้นกลางได้แก่ ร.พ.ตากสิน ร.พ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า ร.พ.จุฬาลงกรณ์ และร.พ.เลิดสิน ส่วนโรงพยาบาลเขตรอบนอก ได้แก่ร.พ.นพรัตนราชธานี ร.พ.ภูมิพลอดุลยเดช และเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน เตรียมจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า การดำเนินงานของหน่วยกู้ชีพ จะทำเป็นลักษณะเครือข่ายครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศทั้งโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐและเอกชน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้อบรมพัฒนาหน่วยแพทย์กู้ชีพซึ่งจะมีมูลนิธิต่างๆส่งเจ้าหน้าที่เข้าอบรมและให้การรับรองมาตรฐานแบบมืออาชีพและขึ้นทะเบียนทั้งหมด 16,000 คน รวม 5,000 ทีม ในการออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนแต่ละครั้ง จะมีการบันทึกการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บตั้งแต่จุดเกิดเหตุจนถึงการนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งจะทำให้แพทย์ที่รับผู้ป่วยต่อสามารถให้การดูแลรักษาได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาซักประวัติจากญาติอีก ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปี 2550 นี้ ตั้งเป้าจะให้บริการประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้หลักประกันใด ๆก็ตาม ให้ได้ 4 แสนครั้ง
ทางด้านนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้อำนวยการสำนักบริการการแพทย์ฉุกเฉินหรือศูนย์นเรนทร กล่าวว่าขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งผลักดันพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อให้เป็นจุดเริ่มส่งเสริมพัฒนาระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉิน ดูแลผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาลอย่างมืออาชีพเป็นการด่วน ในรอบ 6 เดือนปีนี้ ให้บริการไปแล้ว 191,054 ราย โดยร้อยละ 46 ป่วยฉุกเฉิน รองลงมาคืออุบัติเหตุจราจรร้อยละ 40 รอดชีวิตสูงร้อยละ 99 เสียชีวิต 1,700 ราย เนื่องจากการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยรุนแรง ซึ่งร้อยละ 90 สามารถนำส่งผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลภายใน 10 นาทีตามมาตรฐาน โดยประชาชนแจ้งตรงที่ 1669 เพียงร้อยละ 48 นอกนั้นแจ้งผ่านเครือข่ายอื่น ซึ่งหากแจ้งตรง 100 เปอร์เซ็นต์ จะเกิดประโยชน์ต่อชีวิตมากกว่านี้
******************** 21 มิถุนายน 2550
View 7
21/06/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ