กระทรวงสาธารณสุข ส่งหน่วยปราบยุงลาย ลงควบคุมโรคที่บ้านนาเดีย ดาราสาวที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ที่ตำบลท่าอิฐ จ.นนทบุรี โดยฉีดพ่นหมอกควัน แจกทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย เตือนผู้ใหญ่อย่าประมาท หากเป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตามากให้รีบไปพบแพทย์ อย่าซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาแก้ปวดลดไข้ จะทำให้เลือดออกมากขึ้น ชี้ระยะไข้ลดอันตรายมาก อาจช็อคภายใน 10 12 ชั่วโมงหากไม่ไปพบแพทย์
จากกรณีที่คุณนาเดีย ดาราสาวชื่อดัง มีอาการป่วยจากโรคไข้เลือดออกนั้น ในบ่ายวันนี้ (21 มิถุนายน 2550) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้นายแพทย์สมพงษ์ บุญสืบชาติ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี และนายแพทย์วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค นำทีมเจ้าหน้าที่ลงสอบสวนควบคุมโรคไข้เลือดออกที่บ้านของคุณนาเดีย บ้านเลขที่ 5/5 หมู่ 5 บ้านลาดสิงห์ ตำบลท่าอิฐ อ.เมือง จ.นนทบุรี และบ้านที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน โดยเจ้าหน้าที่ได้พ่นหมอกควันกำจัดยุงตัวแก่ภายในบ้านและบริเวณรอบบ้าน แจกทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย และคำแนะนำในการป้องกันโรคไข้เลือดออกแก่ประชาชน โดยเฉพาะการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในบ้านและรอบๆ บ้าน เช่น น้ำในแจกันไม้ประดับ กระถางต้นไม้ที่คนในเขตเมืองนิยมปลูกและมีจานรองน้ำด้วย ซึ่งจะเป็นแหล่งน้ำให้ยุงลายวางไข่ได้ จะต้องเปลี่ยนทุก 7 วันอย่างต่อเนื่อง เพราะจากการสอบประวัติของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่ผ่านมา ร้อยละ 90 เกิดมาจากถูกยุงลายในบ้านกัด
นายแพทย์สมพงษ์ บุญสืบชาติ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีกล่าวว่า เมื่อบ่ายวันนี้ได้รับรายงานการตรวจเลือดของคุณนาเดียจากโรงพยาบาลวิภาวดีพบว่าติดเชื้อไข้เลือดออก อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯได้ทำการพ่นหมอกควันควบคุมโรคไข้เลือดออกก่อนที่คุณนาเดียจะป่วยมาแล้ว 2 ครั้งที่ชุมชนแห่งนี้ เนื่องจากได้ประเมินสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจ.นนทบุรีว่าในปีนี้จะสูง จากการตรวจบริเวณบ้านคุณนาเดียครั้งนี้พบว่า มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายค่อนข้างมาก เช่น สระบัว มีแจกันดอกไม้ ปลูกไม้ประดับในกระถางพร้อมจานรองด้วย บริเวณบ้านค่อนข้างร่มครึ้ม ได้แนะนำให้เปลี่ยนน้ำตามแจกันทุก 7 วัน ใส่ทรายในจานรองกระถางต้นไม้ และให้ใส่ปลาในสระบัว เช่น ปลาหางนกยูง เพื่อให้ปลากินไข่ยุง
ทั้งนี้สถานการณ์ไข้เลือดออกทั่วประเทศในปีนี้ พบว่าจังหวัดกว่าร้อยละ 50 ของประเทศ มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นจำนวนมาก จากรายงานสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 16 มิถุนายน 2550 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 16,167 ราย เสียชีวิต 15 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2,556 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2549 ร้อยละ 30 ที่น่าเป็นห่วงคือเพียง 2 สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน 2550 พบผู้ป่วยแล้ว 2,676 ราย ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงสิงหาคมจะเป็นช่วงที่พบผู้ป่วยสูงทุกปี กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้ทุกจังหวัดรณรงค์ควบคุมป้องกันโรคอย่างจริงจัง
ผู้ป่วยในปีนี้พบทุกวัย กลุ่มใหญ่ที่สุดคือกลุ่มเด็กวัยเรียนอายุ 5 14 ปี พบได้ร้อยละ 53 รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 15 24 ปี ร้อยละ 24 และกลุ่มวัยทำงาน อายุ 25 34 ปี ส่วนผู้ใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไปป่วยแล้วกว่า 1,000 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากมักซื้อยารับประทานเอง ปล่อยจนมีอาการหนัก จึงไปพบแพทย์ ทำให้เสี่ยงเกิดภาวะช็อค เป็นอันตรายถึงชีวิต /2
ด้านแพทย์หญิงศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ ผู้อำนวยการศูนย์ไข้เลือดออก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกรักษาให้หายได้หากมารับการรักษาเร็ว โดยอาการทั่วไปของโรคไข้เลือดออกในเด็กและผู้ใหญ่จะไม่แตกต่างกัน คือมีไข้สูงมาก กินยาแล้วไข้ไม่ลด อาจมีจุดเลือดออก เล็ก ๆ สีแดงที่ผิวหนังกระจายตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน แต่ในผู้ใหญ่มักจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตามาก และมักเป็นรุนแรงกว่าเด็ก เนื่องจากมาพบแพทย์ช้า มักจะไปซื้อยากินเองก่อน เมื่อรู้สึกมีไข้ ไม่สบายตัว ทำให้อาการหนัก รวมทั้งมักใช้ยาแก้ปวดลดไข้ที่มีฤทธิ์แรงทั้งแก้ปวดและลดไข้ ทำให้ระคายเคืองและมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี มักมีโรคประจำตัว เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้วหากเป็นไข้เลือดออกก็ยิ่งทำให้อาการหนักมากขึ้น
แพทย์หญิงศิริเพ็ญกล่าวต่อว่า ตามปกติเมื่อเป็นไข้แล้วไข้เริ่มลดลง แสดงว่าอาการดีขึ้น คนส่วนใหญ่จึงคิดว่ากำลังจะหายป่วย จึงไม่ไปพบแพทย์ แต่หากป่วยเป็นไข้เลือดออก ในระยะที่ไข้ลดลงจะเป็นช่วงที่อันตรายมากให้สังเกตว่า หากระยะที่ไข้ลดลง ผู้ป่วยยังมีอาการซึม อ่อนเพลีย ปวดท้อง แม้จะรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ กินอาหารได้ ต้องพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากไม่ไปพบแพทย์ภายใน 10 12 ชั่วโมง อาจเกิดอาการช็อค มีอาการตับวาย ไตวายแทรกซ้อน จนเสียชีวิตได้
อีกกรณีที่อันตรายคือ บางครั้งผู้ป่วยที่มีไข้ อ่อนเพลีย กินอาหารไม่ค่อยได้ มักจะขอให้แพทย์ให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด ซึ่งหากได้น้ำมากเกินไป อาจมีภาวะน้ำท่วมปอด ท่วมหัวใจ เป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นขอให้ผู้ป่วยพยายามกินอาหารเอง แต่หากกินได้น้อยไม่ถึงครึ่งของที่กินตามปกติ ให้กินนม น้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดเกลือแร่ ไม่ให้ดื่มน้ำเปล่า เพราะอาจทำให้ชักจากภาวะแร่ธาตุในร่างกายไม่สมดุลได้
**************************** 21 มิถุนายน 2550
View 10
21/06/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ