กระทรวงสาธารณสุข พบแรงงานต่างด้าวที่อยู่ติดชายแดนไทย-พม่าที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ป่วยเป็นโรคมาลาเรียปีละเกือบ 2,000 ราย ตั้งศูนย์ปราบโรคในชุมชนในพื้นที่ห่างไกล เดินทางลำบาก 25 แห่ง มีกล้องจุลทรรศน์ตรวจวินิจฉัยเชื้อ และรักษาทันทีฟรีหากพบเชื้อ และแจกมุ้งชุบสารเคมี น็อคยุงก้นปล่องตายภายใน 3 วินาที วันนี้ (12 กรกฎาคม 2550) ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า เพื่อให้กำลังเจ้าหน้าที่ และเดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของพนักงานสุขภาพชุมชนชายแดน (พสชช.) ที่บ้านป่าไม้ลัน ตำบลปางมะผ้า และเยี่ยมการปฏิบัติงานของพนักงานมาลาเรีย โดยแจกมุ้งชุบน้ำยาเคมีให้ชาวบ้านทุกหลังคาเรือน ที่โรงเรียนบ้านปางคาม อำเภอปางมะผ้า จำนวน 100 หลัง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงก้นปล่องกัด นายแพทย์มรกต กล่าวว่า มาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังและมักพบบริเวณชนบท ป่าเขา โดยยุงจะชุกชุมมากในช่วงฤดูฝน สถานการณ์มาลาเรียทั่วประเทศในปี 2548 พบผู้ป่วยมาลาเรีย 27,381 ราย ปี 2549 พบผู้ป่วย 30,338 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยมาลาเรียกระจายอยู่ในบริเวณ 30 จังหวัดชายแดน 27,544 รายคิดเป็นร้อยละ 91 มากที่สุดในจังหวัดที่อยู่ชายแดนไทย-พม่า รองลงมาคือกัมพูชา โดยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนปี 2549 พบผู้ป่วยโรคมาลาเรีย 2,411 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ซึ่งพบ 1,650 ราย มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศรองจากจังหวัดตาก ยะลา เนื่องจากไม่มีจุดผ่านแดนถาวร ชาวพม่าเดินทางเข้ามาได้สะดวก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่องานควบคุมวัณโรค และโรคเอดส์มาก ซึ่งทั้ง 3 โรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตจำนวนมากในประเทศที่ด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประชากรด้อยโอกาสบริเวณชายแดน อาจมีผลกระทบต่อผลผลิตและความมั่นคงของโลกได้ นายแพทย์มรกต กล่าวต่อไปว่า ในปี 2547 กระทรวงสาธารณสุข ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนโลกเพื่อป้องกันและควบคุมโรคมาลาเรีย 5 ปีตั้งแต่ปี 2548-2552 เป็นเงิน 227 ล้านบาท โดยได้จัดสรรให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนควบคุมโรคในพื้นที่ 16 ล้านบาทเศษ ส่วนใหญ่พื้นที่แพร่เชื้อโรคมาลาเรียจะเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดแนวชายแดน ห่างไกลมาก การเดินทางไม่สะดวก ห่างไกลจากโรงพยาบาลและสถานพยาบาลที่จะตรวจรักษาโรคไข้มาลาเรีย โดยจัดตั้งศูนย์มาลาเรียชุมชนในพื้นที่ที่มีไข้มาลาเรียชุกชุมทั้งหมด 25 แห่ง ในปี 2549 เพื่อตรวจรักษาโรคในหมู่บ้าน ซึ่งมีประชากรเกือบ 10,000 คนได้ทันที ฟรีทั้งหมด ศูนย์ดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่บริการชุบมุ้งด้วยสารเคมี ตรวจเชื้อทางกล้องจุลทรรศน์ หากพบเชื้อจะให้การรักษาทันที ไม่ต้องเดินทางรักษาไปโรงพยาบาล ตั้งเป้าลดอัตราป่วยมาลาเรียและอัตราตายไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี และให้ประชาชนในหมู่บ้านใช้มุ้งชุบสารเคมีได้ได้ร้อยละ 80 เป็นอย่างต่ำ ทางด้านนายแพทย์สุวัฒน์ กิตติดิลกกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า แหล่งแพร่เชื้อโรคมาลาเรียที่แม่ฮ่องสอนมีอย่างต่อเนื่องมักมากับแรงงานต่างด้าว โดยมียุงก้นปล่องเป็นตัวแพร่กระจายโรคสู่คนไทย ผลการเฝ้าระวังผู้ป่วย พบแรงงานต่างด้าวป่วยและตาย เพิ่มขึ้นจาก 1,135 ราย ตาย 2 ราย ในปี 2543 เป็น 1,963 ราย ในปี 2549 มาตรการที่สำคัญเน้นหนักใน 25 หมู่บ้าน ใน 5 อำเภอที่มีโรคไข้มาลาเรียชุกชุม ประกอบด้วย อ.เมือง 4 หมู่บ้าน อ.ขุนยวม 4 หมู่บ้าน อ.แม่สะเรียง 7 หมู่บ้าน อ.สบเมย 7 หมู่บ้าน อ.ปางมะผ้า 3 หมู่บ้าน คือการรักษารวดเร็วและลดจำนวนคนป่วย โดยไม่ให้ยุงกัดซึ่งจะต้องนอนในมุ้งที่ปลอดภัย เพราะยุงก้นปล่องมักออกกัดกินเลือดเวลากลางคืน ทั้งนี้จังหวัดได้แจกมุ้งชุบสารเคมีกลุ่มไพรีทรอยด์ ซึ่งไม่เป็นพิษต่อคน ไม่มีกลิ่น แต่จะทำลายระบบประสาทของยุง เมื่อยุงมาเกาะที่มุ้งและถูกขายุง จะทำให้ยุงเป็นอัมพาต และตายภายใน 3 วินาที แต่ต้องชุบสารเคมีทุก 6 เดือน เพื่อคงประสิทธิภาพต่อเนื่อง การแจกมุ้งจะต้องแจกให้เพียงพอนอนได้ 2 คน ขณะนี้ได้แจกไปแล้ว 2,355 หลังคาเรือน ครอบคลุมกว่าร้อยละ 90 ในหมู่บ้านเป้าหมาย แต่มีปัญหาคือ ในกลุ่มชาวเขาหรือแรงงานต่างด้าวมักจะไม่นิยมกางมุ้งนอน ซึ่งจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนกลุ่มนี้ต่อไป การดำเนินงานของศูนย์มาลาเรียชุมชน 25 แห่ง ได้ฝึกอบรมพนักงานมาลาเรียชุมชน 25 หมู่บ้านๆละ 2 คน สนับสนุนกล้องจุลทรรศน์ตรวจเชื้อ 25 เครื่อง ในปี 2549 ตรวจพบเชื้อมาลาเรียจาก 25 หมู่บ้านทั้งหมด 1090 ราย ร้อยละ 80 เป็นเชื้อพลาสโมเดียมฟาซิฟาลั่ม (Plasmodium Falcipalum) ซึ่งมีความรุนแรงที่สุด ทำให้เสียชีวิตจากเชื้อขึ้นสมองได้ อีกร้อยละ 20 เป็นชนิดที่เรียกว่าไวแวกซ์ (Plasmodium Vivax) ซึ่งจะทำให้ป่วยชนิดที่เรียกว่า 3 วันดีสี่วันไข้หรือจับไข้วันเว้นวัน หรือเว้น 2 วัน ทำให้เกิดอาการซีด อ่อนเพลีย นอกจากนี้ได้จัดตั้งระบบเตือนภัยให้สามารถตรวจจับและเตรียมรับการระบาดที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีทีมเฉพาะกิจที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็ว นายแพทย์สุวัฒน์ กล่าว ************************** 12 กรกฎาคม 2550


   
   


View 6    12/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ