กระทรวงสาธารณสุข เร่งอบรมฟื้นความรู้ ทักษะ อสม. โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ก่อนระดมพลัง อสม.ทุกพื้นที่ออกให้ความรู้ คัดกรองคนป่วยโรคเรื้อรังพร้อมกันทั่วประเทศ สร้างความตระหนักให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพออกกำลังกาย กินอาหารเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค วันนี้ (13 กรกฎาคม 2550) ที่จังหวัดเลย นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังติดตามการอบรมฟื้นฟูศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อำเภอเมือง และอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย รวม 2,600 คน เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะ อสม. ในการดูแลส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคแก่ประชาชนในพื้นที่ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ว่า ขณะนี้คนไทยป่วยเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง จากการกินอาหารที่ไม่สมดุลกับความต้องการของร่างกาย ได้แก่ กินอาหารที่มีไขมันสูง รสหวานจัด เค็มจัด อาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารที่ปนเปื้อนสารพิษ กินผักผลไม้ในปริมาณไม่เพียงพอ และยังขาดการออกกำลังกาย ทำให้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังเมื่อมีอายุมากขึ้น ที่สำคัญได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง นายแพทย์วัลลภกล่าวต่อว่า ผลการสำรวจสภาวะสุขภาพคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 39,290 คน ในปี 2547 พบ มีความดันโลหิตสูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปร้อยละ 22 หรือ 10.1 ล้านคนของประชากร เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2534 เกือบ 4 เท่าตัว และปี 2539 กว่า 1 เท่าตัว โดยมีถึงร้อยละ 28.4 หรือประมาณ 7.2 ล้านคน ไม่เคยรู้ตัวว่าเป็นความดันโลหิตสูง และพบผู้มีระดับน้ำตาลเลือดสูงกว่าปกติหรือเรียกว่าภาวะก่อนเป็นโรคเบาหวาน 3.2 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 43.5 หรือ 1.4 ล้านคน ไม่รู้ตัวมาก่อนเช่นกัน ทำให้อาจเกิดโรคแทรกซ้อนอันตรายถึงชีวิตหรือพิการได้ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตจากเส้นเลือดสมองแตกหรือตีบ โรคหัวใจขาดเลือด ไตวาย จอประสาทตาเสื่อม ตาบอด และหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบจนต้องตัดนิ้วมือนิ้วเท้า แขนขาทิ้ง ซึ่งบั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และครอบครัวเป็นอย่างมาก นายแพทย์วัลลภกล่าวต่อไปว่า หลังจากอบรมฟื้นฟูความรู้แก่ อสม. ทั่วประเทศแล้ว อสม.เหล่านี้ จะออกให้ความรู้ และช่วยคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพร้อม ๆ กันทุกพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่ป่วยแล้วแต่ยังไม่รู้ตัวได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ส่วนประชาชนที่ยังไม่เจ็บป่วยก็จะเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค โดยการควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารทอด ไขมันสูง ขนมหวาน ขนมถุง ซึ่งส่วนใหญ่มีเกลือในปริมาณสูง กินผักผลไม้ให้มากขึ้นอย่างน้อยวันละ 5 ทัพพี และออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอครั้งละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน สำหรับผู้สูงอายุและคนอ้วน ควรใช้วิธีเดินเร็ว ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อเข่าเสื่อม รวมทั้งหมั่นตรวจเช็คความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุก 6 เดือน **************************** 13 กรกฎาคม 2550


   
   


View 5    13/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ