ปลัดกระทรวงสาธารณสุขสั่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ป้องกันโรคมือเท้าปาก เน้นหนักมาตรฐานความสะอาดสระว่ายน้ำ โรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ ในรอบ 6 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากแล้วกว่า 1,000 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วเกือบ 2 เท่าตัว แนวโน้มอาจเพิ่มขึ้นได้อีกเพราะฝนตกชุก นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรคมือเท้าปากหลังมีรายงานว่าเด็กนักเรียนในกทม.ย่านลาดพร้าว ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) และทางโรงเรียนได้สั่งปิดโรงเรียนเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา ว่า จากการเฝ้าระวังโรคมือเท้าปากทั่วประเทศในปีนี้ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรครายงานว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงขณะนี้ พบผู้ป่วยแล้ว 1,131 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิต จำนวนผู้ป่วยในปีนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วเกือบ 2 เท่าตัว โดยพบมากที่สุดที่ภาคใต้ 399 ราย มากที่สุดที่จังหวัดพัทลุง 137 ราย รองลงมาคือภาคกลาง 371 ราย มากที่สุดในกทม. 191 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 187 ราย และภาคเหนือ 184 ราย โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักพบในโรงเรียนอนุบาล และศูนย์เด็กเล็ก นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า จากการประเมินสถานการณ์ของโรคมือเท้าปากในปีนี้ คาดว่าจำนวนผู้ป่วยอาจสูงกว่าปี 2549 ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค ประสานโรงเรียนทุกแห่งในพื้นที่ให้ดูแลความสะอาดของโรงเรียน โดยเฉพาะศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ขอให้ครูเข้มงวดความสะอาดทั้งสถานที่ ของเล่นต่างๆเป็นพิเศษ กำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้อง พี่เลี้ยงเด็กต้องล้างมือทุกครั้งหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมและก่อนเตรียมอาหาร ไม่ใช้ช้อนหรือถ้วยกินน้ำร่วมกัน เมื่อพบเด็กมีไข้ มีผื่นขึ้นตามตัว มีตุ่มใสขึ้นที่ปาก มือ หรือเท้า ขอให้นึกถึงโรคนี้ ให้เด็กหยุดเรียนและพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่รวดเร็ว และให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ทันที เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดโดยเร็ว ส่วนสถานประกอบการที่มีสระว่ายน้ำบริการ ขอให้ตรวจสอบระดับคลอรีนตกค้างของน้ำในสระ เพื่อให้มั่นใจว่ามีคุณภาพมาตรฐานปลอดภัย โดยจะต้องมีระดับคลอรีนตกค้าง 0.5 เปอร์เซ็นต์ ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่พบได้ตลอดปี แต่พบมากในช่วงฤดูฝน เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enteroviruses ) ที่พบบ่อยคือ ค็อกแซกกีไวรัส (Coxsackie viruses) สายพันธุ์ที่พบบ่อยในไทยคือสายพันธุ์เอ5 ,เอ10 และเอ 16 โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสตรงกับน้ำมูกน้ำลาย อุจจาระของผู้ป่วย หรือน้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่ เด็กจะได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน หลังติดเชื้อ 4-6 วัน เด็กจะมีไข้ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่กินนม ไม่กินอาหาร เจ็บคอ ปวดศีรษะ และจะมีตุ่มใสขนาดเล็กขึ้นในปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม และตุ่มอาจขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางรายอาจขึ้นบริเวณก้นด้วย เวลากดจะเจ็บ ระยะที่มีตุ่มใสขึ้นนี้ เป็นระยะที่ติดต่อง่ายที่สุด จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสตุ่มน้ำใส โรคนี้ไม่มียาฆ่าเชื้อโดยตรง จะรักษาตามอาการ จะหายป่วยเองภายใน 7-10 วัน นายแพทย์ธวัชกล่าวต่อว่า จากการเฝ้าระวังความรุนแรงในผู้ป่วย พบว่าในปีนี้ยังไม่พบโรคแทรกซ้อนรุนแรง จนถึงขั้นเสียชีวิต เช่นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การป้องกันที่ดีที่สุดคือการล้างมือเป็นประจำหลังขับถ่าย และก่อนรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นวิธีที่จะลดการแพร่ระบาดได้มาก ควรฝึกให้เป็นนิสัยโดยเฉพาะเด็กและผู้ดูแลเด็ก *********** 15 กรกฏาคม 2550


   
   


View 5    15/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ