กระทรวงสาธารณสุขประชุมระดมสมองผู้บริหาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและ สาธารณสุขอำเภอที่อยู่ใน 14 จังหวัดภาคใต้ พัฒนาระบบบริหารบริการ รวมทั้งการปรับโครงสร้างใหม่ พร้อมแนะแนวทางดำเนินงานเพื่อการกระจายอำนาจ สู่ท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ เช้าวันนี้ (16 กรกฎาคม 2550) นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานเปิดประชุมวิชาการผู้บริหาร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศก์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอในพื้นที่ 14 จังหวัดจำนวน 300 คน ณ ห้องประชุมพระพิทักษ์แกรนด์บอลรูม โรงแรมเมโทรโพล จังหวัดภูเก็ต เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานพัฒนาวิชาการและการบริหาร ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นายแพทย์มรกต กล่าวว่า การดำเนินงานด้านสุขภาพอนามัยต่อจากนี้ไป กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่ม ผ่องถ่าย กระจายอำนาจไปสู่ส่วนท้องถิ่นมากขึ้น โดยถ่ายโอนสถานบริการสุขภาพให้แก่ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สมารถดูแลจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขต้อง ปรับเปลี่ยนโครงการสร้าง บทบาท ภารกิจ และกลไกการทำงาน โดยส่วนกลางทำหน้าที่ให้การสนับสนุนด้าน วิชาการ ส่งเสริม พัฒนา ระบบบริการสุขภาพแก่พื้นที่ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการมากขึ้น ครอบคลุมทั้งส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุมโรค และการรักษาพยาบาล ปัจจุบันทั่วประเทศ มีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 875 แห่ง โดยอยูในภาคใต้ 14 จังหวัด จำนวน 158 แห่ง มีบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 19,945 คน คิดเป็นร้อยละ 14 ของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด ในปี 2550 นี้กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มถ่ายโอนสถานีอนามัยที่มีความพร้อมจำนวน 35 แห่งให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 30 แห่ง โดยอยู่ในภาคใต้ 4 จังหวัด รวม 5 แห่ง คือที่จ.นครศรีธรรมราช 2 แห่ง ถ่ายโอนให้ อบต.ปากพูน อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง ถ่ายโอนให้ อบต.เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.ชุมพร 1 แห่ง ให้อบต.บางหมาก อ.เมือง และจ.กระบี่ 1 แห่ง ถ่ายโอนให้ อบต.อ่าวนาง อ.เมือง จึงต้องมีการวางแผนด้าน การบริหารด้านกำลังคน ด้านการเงินการคลัง และการสนับสนุนบริการสาธารณสุขให้เหมาะสม นายแพทย์มรกตกล่าวต่อไปว่า สำหรับการบริการสาธารณสุขนั้น ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้วางระบบพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ เพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มผู้ให้บริการระดับปฐมภูมิเช่นสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน กลุ่มผู้บริหารระบบประกันสุขภาพ กลุ่มผู้บริหาร โรงพยาบาลในรูปแบบใหม่ รวมทั้งโรงพยาบาลที่เป็นองค์การมหาชน ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับของรัฐ และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มนักวิชาการ/นักวิจัย นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน สถาบันและกลุ่มองค์กรต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข เพื่อสร้างความเข้มแข็งขององค์กรท้องถิ่นและชุมชนในระดับรากหญ้า เพื่อให้งานเป็นประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุดด้วย ***************************************** 16 กรกฎาคม 2550


   
   


View 5    16/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ