รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข แจงสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยวัย 41 ปีที่จังหวัดพิจิตรวานนี้ ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ไม่ใช่เชื้อโรคไข้หวัดนก แต่เสียชีวิตจากปอดอักเสบอย่างรุนแรง เนื่องจากมีประวัติเป็นโรคตับแข็งมาก่อน และไม่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตายมาก่อน เผยขณะนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวด เกือบ 7 เดือนนี้ยังไม่พบรายใดติดเชื้อไข้หวัดนก จากกรณีที่มีข่าวชายชาวจังหวัดพิจิตร อายุ 41ปี อยู่ที่หมู่ 8 ตำบลย่านยาว อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร มีไข้ ไอ เหนื่อยหอบ แพทย์สงสัยติดเชื้อโรคไข้หวัดนก ได้รับตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลพิจิตร เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 เวลา 20.30 น. และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2550 เวลาประมาณ 04.00 น. และในข่าวสงสัยว่าเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกนั้น เกี่ยวกับความคืบหน้าดังกล่าว นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การเสียชีวิตของผู้ป่วยรายนี้ เป็นการติดเชื้อธรรมดา โดยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์พิษณุโลก ไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกแต่อย่างใด และไม่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วย/ตายใดๆ เลย นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้หวัดนก กระทรวงสาธารณสุขมีมิสเตอร์ไข้หวัดนกติดตามดูแลเรื่องนี้ร่วมกับ อสม. ในทุกจังหวัด ขณะนี้ยังติดตามเฝ้าระวังทั้งในหมู่บ้านและในโรงพยาบาลทุกแห่ง หากมีสัตว์ปีกติดเชื้อที่ไหน จะมีการเฝ้าระวังป้องกันการติดเชื้อในคนทันที โดยทำงานร่วมกับชุมชนและ ปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เชื้อมีโอกาสเล็ดลอดออกไป อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันดูแลไก่และสัตว์ปีกอื่น หากมีสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ ห้ามนำมาชำแหละกินอย่างเด็ดขาด ขอให้แจ้งอสม. หรือปศุสัตว์ทันที และอย่าสัมผัสซากสัตว์ด้วยมือเปล่าๆ เนื่องจากจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้ เป็นผู้ป่วยในระบบการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอยู่แล้ว โดยผู้ป่วยที่มีปัญหาเป็นโรคปอดบวม ปอดอักเสบหรือเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลทุกราย จะต้องมีการตรวจคัดกรองประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกอย่างละเอียด และส่งเสมหะในลำคอและเลือด เพื่อตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ จากการสอบสวนประวัติผู้เสียชีวิตรายนี้ เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 ด้วยอาการไข้ เข้าตรวจรักษาที่โรงพยาบาลสามง่าม และส่งตัวรักษาต่อที่โรงพยาบาลพิจิตร เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 ตรวจวัดไข้มีไข้สูงปานกลาง หายใจลำบาก หอบเหนื่อย แพทย์ได้ใสท่อช่วยหายใจ รับตัวไว้รักษา และเอ็กซเรย์ปอด พบปอดด้านล่างข้างขวามีการอักเสบ และจากการสอบสวนประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก ที่บ้านของผู้เสียชีวิตไม่ได้เลี้ยงไก่ ส่วนบ้านข้างๆ มีการเลี้ยงไก่ชนแบบปล่อยประมาณ 100 ตัว และเลี้ยงนก 10 ตัว แต่ไม่มีอาการป่วยหรือตายแต่อย่างใด จึงไม่ใช่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกอย่างแน่นอน โดยประวัติผู้เสียชีวิตรายนี้ เคยป่วยเป็นโรคตับแข็งมาก่อน และสาเหตุเสียชีวิตมาจากปอดอักเสบอย่างรุนแรง และมีภาวะช็อคจากการติดเชื้อในกระแสเลือด สำหรับผลการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคปอดบวม ปอดอักเสบและไข้หวัดใหญ่ ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2550 ได้ตรวจคัดกรองผู้ป่วยทั้งหมด 1,726 ราย ผลการตรวจพบว่าส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 90 ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วๆ ไป ไม่พบรายใดติดเชื้อไข้หวัดนก ************************** 16 กรกฎาคม 2550


   
   


View 7    16/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ