รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบายให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศกว่า 2 แสนคน และอาสาสมัครสาธารณสุขกว่า 8 แสนคน ร่วมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไทยร่วมลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ในวันที่ 19 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ขณะให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยก็สามารถแจ้งได้ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เมื่อเช้าวันนี้ (18 กรกฎาคม 2550) ว่า ได้กำชับผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานในสังกัด ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ ให้ความสำคัญกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้ประชาชนไทยทุกคนร่วมมลงมติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 โดยให้หน่วยราชการที่อยู่ในสังกัด ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับที่มีกว่า 2 แสนคนทั่วประเทศ และขอให้อาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสม. กว่า 8 แสนคน ร่วมกันประชาสัมพันธ์ให้บุคคลในครอบครัวและประชาชนร่วมลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าว เพื่อให้ประชาธิปไตยประเทศไทยก้าวเดินต่อไปได้ รวมถึงการพัฒนาด้านอื่นๆ ตามมา สำหรับในโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งต่อวันจะมีผู้ป่วยและญาติเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก ขอให้ประชาสัมพันธ์ทั้งที่แผนกผู้ป่วยนอกและตึกผู้ป่วยใน เพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วย บางครั้งอาจไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเพียงพอ สามารถไปร่วมลงมติได้หลังจากหายป่วยแล้ว นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายที่จะเน้นให้สถานบริการโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค เร่งดำเนินการมี 2 เรื่อง ได้แก่ การจัดโครงการจิตอาสา ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีเวลาว่าง ได้ร่วมกิจกรรมบริการผู้เจ็บป่วยในโรงพยาบาลตามความถนัด และให้โรงพยาบาลทุกแห่งเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ เข้ามาร่วมเป็นกรรมการกำหนดทิศทางการบริหารโรงพยาบาลด้วย เพื่อได้เกิดความรู้สึกการเป็นเจ้าของโรงพยาบาล และร่วมพัฒนาบริการ ขณะเดียวกันเน้นให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลออกไปเยี่ยมเยียนชุมชน เยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน เช่น ผู้ป่วยอัมพาต ผู้สูงอายุ ให้ชุมชนเกิดความอบอุ่นมั่นใจ ทำให้โรงพยาบาลมีความใกล้ชิดกับชุมชน เกิดความรู้สึกอันดีต่อกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนในชุมชน จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งหรือปัญหาการฟ้องร้องโรงพยาบาลลงได้ เรื่องที่สอง ได้แก่ การจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางหมายเลข 1669 ซึ่งมีความจำเป็นในขณะนี้ และอนาคตสามารถลดการเสียชีวิตลงได้ถึง 14 เปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมาการพัฒนาในเขตเมืองไม่น่าห่วง เพราะดำเนินการได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในเขตชนบทยังดำเนินการได้น้อยมาก จึงต้องเร่งในส่วนนี้ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมจัดบริการ เพื่อให้ประชาชนในชนบทสามารถเรียกใช้บริการได้เท่าเทียมกับคนในเขตเมือง ไม่ต้องเสียเงินจ้างเหมารถไปส่งโรงพยาบาล ขณะนี้ได้จัดงบบริการการแพทย์ฉุกเฉินรวมอยู่กับงบรายหัวจำนวน 10 บาทต่อคน สามารถนำมาพัฒนาระบบนี้ได้เลย โดยกระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนด้านวิชาการ ฝึกอบรมความรู้ทักษะบุคลากรด้านนี้ให้ ส่วนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นลงทุนในเรื่องการบริหารจัดการ การจัดกำลังคน และรถพยาบาล หากทำได้ทุกพื้นที่ประชาชนไทยไม่ว่าจะเจ็บป่วยที่ใด ก็จะสามารถมีโอกาสรอดชีวิตยิ่งขึ้น ***************************** 18 กรกฎาคม 2550


   
   


View 8    18/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ